กางโรดแมป 3 โอเปอเรเตอร์ ซัดเดือด5G

24 ก.พ. 2563 | 23:26 น.

 

3 โอเปอเรเตอร์กางแผนหลังคว้าคลื่น 5G เอไอเอส ครองแชมป์ถือครองคลื่นมากสุด เดินหน้าพัฒนาโครงข่ายไม่ทิ้งลูกค้า 4G ระบุ 5G ไทยยังต้องรอดีไวซ์รองรับ ด้านดีแทค ชูกลยุทธ์ มีน้อยแต่มีครบ ดึงคลื่น 26 GHz รุกเน็ตบ้านไร้สาย ขณะที่ทรู มุ่งวิสัยทัศน์True 5G” อัจฉริยภาพสู่โลกใหม่ที่ยั่งยืนของเรา

 

AISคลื่นมากได้เปรียบ

นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส เปิดเผยว่า เอไอเอสตั้งใจที่จะประมูลคลื่น 5G เข้ามาเพิ่มเพื่อให้เต็ม Block ในทุกย่านความถี่ เพื่อให้ครอบคลุมในย่านความถี่ทั้งตํ่า (Low Band) คือ คลื่น 700 คลื่นความถี่ย่านกลาง (Mid Band) คือ 2600 MHz และคลื่นความถี่ย่านสูง (High Band) คือ คลื่น 26 GHz ซึ่งคลื่นความถี่ที่ได้มานั้นนอกจากจะนำไปพัฒนาเพื่อให้สามารถรองรับการใช้งาน 5G ลูกค้าที่ใช้บริการ 4G อยู่เดิมก็จะได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ด้วย

อีกทั้งยังสามารถรองรับดิจิทัลโซลูชันของภาคอุตสาหกรรมในอนาคตได้ด้วย ซึ่งเทคโนโลยี 5G นั้นจะสามารถนำไปใช้ในการขยายบริการในด้านต่างๆ อาทิ โมบายบรอดแบนด์, ฟิกซ์ไวร์เลส บรอดแบนด์ รวมถึงการสนับสนุนโครงข่ายในการพัฒนาสมาร์ทซิตีของภาครัฐในพื้นที่ EEC ทั้งนี้การมีปริมาณคลื่นความถี่จำนวนมากหลังจากที่ได้มีการประมูลมานั้นจะทำให้ภาพรวมการให้บริการของเครือข่ายเอไอเอสมีความเร็วเพิ่มขึ้น 24 เท่า สามารถรองรับการใช้งานเพิ่มขึ้น 30 เท่า และมีความหน่วงที่ตํ่ากว่าเดิม 10 เท่า


 

 

Dtac ชู3 กลยุทธ์

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า หลังจากที่ดีแทคคว้าคลื่น 5G บนความถี่ย่าน 26 GHz มาได้จำนวน 200 MHz ทำให้ปัจจุบันดีแทคมีคลื่นความถี่ครอบคลุมทั้งย่านตํ่า-กลาง-สูง โดยมีคลื่นความถี่ในย่านตํ่า คือ 700 MHz และ 900 MHz คลื่นความถี่กลางย่าน 1800 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz และคลื่นความถี่สูงย่าน 26 GHz แผนในการพัฒนาการให้บริการในปี 2563 นี้ ดีแทคทุ่มเงินลงทุนกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายการให้บริการ ด้วย 3 กลยุทธ์หลักในการดำเนินงาน คือ 1. การปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้า เน้นยํ้าเรื่องแบรนด์เพื่อสร้างตัวตน อีกทั้งมีการใช้ AI เข้ามาศึกษาพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าด้วยข้อมูลแบบปัจเจกบุคคล (Personal)

 

กางโรดแมป  3 โอเปอเรเตอร์  ซัดเดือด5G

 

2. การพัฒนาโครงข่าย โดยเน้นความพึงพอใจของลูกค้า สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 26GHz ที่ดีแทคประมูลได้นั้นมีแผนที่จะพัฒนาการใช้งาน 5G อินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายประจำที่ บน Massive MIMO ซึ่งจะทำความเร็วได้สูงสุดราว 1 Gbps คาดว่าจะเปิดให้บริการในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ รวมถึง IoT โซลูชันสำหรับอุตสาหกรรม นอกจากนี้ดีแทคยังเร่งขยายสถานีฐาน และพัฒนาเครือข่าย 4G บนคลื่น 2300 MHz โดยในปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มกว่า 20,000 สถานีฐาน จากปัจจุบัน 17,000 สถานีฐาน ขณะที่การขยายโครงข่าย 5G บนคลื่น 700 MHz คาดว่าจะสามารถเริ่มติดตั้งโครงข่ายได้ในช่วงครึ่งหลังปี 2563 และ 3. การปรับสู่องค์กรดิจิทัล อัพสกิลและฝึกอบรมพนักงานเพิ่มทักษะด้านดิจิทัล

ด้านนายสุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านการพาณิชย์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า กลุ่มทรูมีเจตนารมณ์และมุ่งมั่นนำอัจฉริยะของเทคโนโลยี 5G มาสร้างให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยและประเทศไทย มุ่งสู่โลกใหม่ที่มีความยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์True 5G อัจฉริยภาพสู่โลกใหม่ที่ยั่งยืนของเรา

 

 

ซึ่งการประมูลล่าสุดกลุ่มทรูชนะประมูลได้คลื่น 2600 MHz จำนวน 90 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 GHz จำนวน 800 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งคลื่น 2600 MHz และ 26 GHz นั้น จะเป็นคลื่นที่ให้บริการ 5G ที่ดีที่สุด เพื่อใช้งานร่วมกับคลื่น 700 MHz ที่มีอยู่แล้ว โดยทรูเป็นโอเปอเรเตอร์รายเดียวที่มีคลื่นครบถึง 7 ย่านความถี่ โดยเฉพาะย่านความถี่ตํ่าที่หลากหลายมากที่สุดและมีแบนด์วิดธ์มากที่สุด ทั้งคลื่น 700 MHz, 850 MHz และ 900 MHz รวมทั้งยังมีคลื่นความถี่กลางทั้ง 1800 MHz, 2100 MHz, 2600 MHz และคลื่นความถี่สูง 26 GHz

สำหรับการให้บริการ 5G นั้น ทรูยังผสานกับจุดเด่นในเรื่องความครบครันของพันธมิตรทั้งในประเทศและระดับโลก อย่างไชน่าโมบายล์ ที่เปิดให้บริการ 5G เป็นรายแรกของโลก บนคลื่นความถี่ 2600 MHz ที่พร้อมสนับสนุนทั้งในด้านองค์ความรู้ ความชำนาญ และ Best Practice รวมถึงพันธมิตรด้านเน็ตเวิร์กและดีไวซ์ ตลอดจนกลุ่มทรูที่มีโซลูชันและเทคโนโลยีอัจฉริยะ ทั้ง AI, Robotics, Deep Data Analytics และ Smart IoT ครบวงจรมากสุด

 

หน้า 26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,551 วันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ 2563