ได้เวลาหุ่นยนต์ AI พลิกโฉมเกษตรไทยสู่ยุค4.0

22 ก.พ. 2563 | 01:00 น.

 

ภาคเกษตรไทยอยู่ในช่วงก้าวผ่านสู่ยุคเกษตร 4.0 ที่จะเป็นการเกษตรในแบบ Digital Farming คือมีการใช้ข้อมูลจากอุปกรณ์ตรวจวัดต่างๆ (Sensors) ในรูปแบบ IoT (Internet of Things) เชื่อมโยงข้อมูลจำนวนมากในรูปแบบดิจิทัลทั้งจากในฟาร์มหรือนอกฟาร์ม (Big Data) มาบริหารจัดการด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบการตัดสินใจที่แม่นยำและถูกต้องได้ด้วยตัวระบบของมันเอง ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในแง่คุณภาพ ปริมาณ และการตลาด สร้างผลตอบแทนต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ แทนการใช้ความชำนาญเฉพาะด้าน และการคาดเดาของเกษตรกรในแบบเดิมๆ

 

ปัญหาที่ต้องเร่งแก้

ได้เวลาหุ่นยนต์ AI พลิกโฉมเกษตรไทยสู่ยุค4.0

นายปัญญา เหล่าอนันต์ธนา อาจารย์และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักประดิษฐ์คิดค้นที่ได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาใหญ่มากของภาคเกษตรไทยคือ การขาดแคลนแรงงาน และเกษตรกรก็อยู่ในวัยสูงอายุเป็นส่วนมาก และต้องเผชิญกับปัญหาความแปรปรวนของภูมิอากาศ นํ้า และดิน จากสิ่งแวดล้อมที่เสียความสมดุล ปัญหาศัตรูพืช การใช้สารเคมีทางด้านการเกษตรมากเกินความจำเป็น นอกจากนี้ผลผลิตที่ได้ปัจจุบันต้องมีระบบมาตรฐานที่สามารถสอบย้อนได้ ก็เป็นปัญหาที่สร้างความยุ่งยากต่อเกษตรกร ดังนั้นจึงเป็นที่มาว่าต้องมีการใช้งานเครื่องจักรกลการเกษตรมาทดแทน

“ที่ผ่านมาการนำเข้าเทคโนโลยีหุ่นยนต์การเกษตรราคาจะแพงมาก มีแต่เกษตรอุตสาหกรรมรายใหญ่เท่านั้นที่จะสามารถทำได้ ซึ่งเกษตรกรรายย่อยหรือกลุ่มเกษตรกร จะมีโอกาสได้ใช้หรือไม่ ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ราคาต้องไม่แพง, ใช้งานต้องง่าย เรียนรู้ได้ง่าย, หาซื้อหรือเช่าหรือผู้รับจ้างได้ง่าย, มีศูนย์บริการใกล้บ้าน, ใช้แล้วต้องสร้างผลกำไรที่มากกว่าวิธีเดิมๆ, ต้องลดปัจจัยความเสี่ยงด้านต่างๆ เช่น สภาพความแปรปรวนจาก ดิน นํ้า อากาศ และต้องลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าวิธีเดิมๆ”

 

ชี้เป้าพลิกโฉมครั้งใหญ่

จากเรื่องที่จะต้องพิจารณาทั้งหมดนี้ จะเป็นแนวทางสำคัญที่ประเทศไทยจะปรับเปลี่ยนมาเป็นการเกษตรยุค 4.0 ได้แบบยั่งยืน ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อประเทศไทยเราต้องเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีหุ่นยนต์การเกษตรยุค 4.0 โดยส่วนใหญ่ได้เอง จึงจะตอบโจทย์ทุกข้อได้ โดยในมุมฝ่ายการศึกษามองว่ายังพอมีแนวทางหรือโรดแมปที่จะทำคล้ายๆ กับการเจริญเติบโตของวงการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมไทย ดังนี้

1.เนื่องจากเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ และด้าน AI ในปัจจุบันมีแนวโน้มจะเป็น open source มากขึ้น ดังนั้นประเทศไทยต้องออกแบบให้เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถรองรับการพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่องได้ และจะต้อง open source แชร์แบ่งปันการเรียนรู้การวิจัยและพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ระหว่างเหล่านักวิจัย จึงจะทำให้การพัฒนาเพิ่มความเร็วมากขึ้น 2.ใช้การแข่งขันหุ่นยนต์การเกษตร เป็นตัวจุดเริ่มต้นจุดประกายสร้างการมีส่วนร่วมจากทีมเยาวชนนักประดิษฐ์จากทั่วทุกจังหวัด ทั้งสถาบันอุดมศึกษา อาชีวศึกษา ในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านหุ่นยนต์การเกษตร 4.0 ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องทุกๆ ปี

ได้เวลาหุ่นยนต์ AI พลิกโฉมเกษตรไทยสู่ยุค4.0

 

ดันพร้อมกัน 77จังหวัด

3.ในการแข่งขันหุ่นยนต์การเกษตร ต้องจัดแข่งขันพร้อมกันทุกโจทย์ จากเดิมส่วนใหญ่กำหนดโจทย์เดียว เพื่อให้ต้นแบบสามารถพอจะทำงานได้ในระดับหนึ่งครบทุกโจทย์ 4.นำทีมที่ชนะเลิศในแต่ละโจทย์ ไปขอทุนวิจัยจากภาครัฐ เพื่อพัฒนาต่อเนื่องอย่างจริงจังให้ใช้งานได้จริง ซึ่งการอนุมัติทุนวิจัยจะง่ายขึ้น

 

“ทั้งนี้ถ้าวิจัยเสร็จ ก็สามารถให้นิสิตนักศึกษา หรือ SMEs ในท้องถิ่น โดยอาจมีการระดุมทุนจากนักลงทุนในท้องถิ่นเพื่อผลิต จำหน่าย เช่า ให้บริการรับจ้าง ซ่อมบำรุง ได้เบ็ดเสร็จในท้องถิ่นในทุกๆ จังหวัด ซึ่งจะทำให้ธุรกิจอื่นๆ ในท้องถิ่นพลอยเติบโตไปด้วย ได้แก่ โรงกลึง ร้านขายเหล็ก ร้านขายอะไหล่ ร้านขายเครื่องจักรกลการเกษตร นักโปรแกรมเมอร์ วิศวกร ฯลฯ และเมื่อมีการทดสอบ หรือต้องแก้ไขปรับปรุง ก็จะมีการแชร์ร่วมกันทั้งประเทศไทย ทำให้การปรับปรุงอัพเกรดคุณภาพสินค้า เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเงินลงทุนที่น้อยกว่า”

วิธีการข้างต้นจะสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลคือ การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) 77 จังหวัด ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงนาม MOU กับ 14 มหาวิทยาลัย ได้อย่างพอดี ซึ่งแนวทางที่นำเสนอนี้จะยั่งยืนจนเป็นธุรกิจอยู่ในท้องถิ่นได้ และในอนาคตไทยจะเป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยีการเกษตรได้มากขึ้น นอกเหนือจากส่งออกผลผลิตทางการเกษตรในปัจจุบัน 

 

 

(ล้อมกรอบ)

 

มุ่งวิจัยยกระดับภาคเกษตร

ผลงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อสาธารณะแล้ว 1.ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมเครื่องหย่อนกล้าและการขยายผลการจัดตั้งศูนย์เพาะปลูกในระดับชุมชนประจำ จังหวัดพิษณุโลก 3 ศูนย์, สกลนคร, นครปฐม, สิงห์บุรี, กาญจนบุรี 2.Application ระบบตลาดเกษตรดิจิทัลแบบมีส่วนร่วมผ่านเครือข่ายสังคมใช้กับระบบสหกรณ์การเกษตร โดยสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย 3.ระบบรักษาความปลอดภัยด้วยกล้อง CCTV อัจฉริยะ ใช้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการทหาร กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม ผลงานอื่นๆ เช่น บทความ หนังสือ สิทธิบัตร ฯลฯ สิทธิบัตรอุปกรณ์รถหย่อนกล้าข้าว

หน้า 25 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,550 วันที่ 20 - 22 กุมภาพันธ์ 2563

ได้เวลาหุ่นยนต์ AI พลิกโฉมเกษตรไทยสู่ยุค4.0