ราคาผัก-ผลไม้พุ่ง  โรงงานแปรรูปแบกต้นทุนอ่วม

20 ก.พ. 2563 | 07:00 น.

โรงงานแปรรูปผลไม้ส่งออกเป่าปาก แล้งเสี่ยงทำวัตถุดิบขาดแคลน ดันราคารับซื้อสูง ต้นทุนพุ่ง กระทบแข่งขัน สับปะรดขยับ 12 บาทต่อกก. มะพร้าว 19-20 บาทต่อผล ขณะข้าวโพดอ่อน แห้ว หน่อไม้ ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ ซัพพลายขาดแคลน

 

 

สถานการณ์ภัยแล้งที่ทวีความรุนแรง ประชาชนเสี่ยงขาดน้ำกินน้ำใช้ในหลายพื้นที่ ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานข้อมูลล่าสุด (4 ก.พ. 63) พบความเสียหายแล้วใน 31 จังหวัด ด้านพืชเสียหายสิ้นเชิง 2.03 ล้านไร่ เป็นข้าวมากสุด 1.77 ล้านไร่ พืชไร่ 2.1 แสนไร่ พืชสวนและอื่นๆ 6,624 ไร่ ทั้งนี้โรงงานแปรรูปผลไม้ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำรายได้เข้าประเทศ เริ่มได้รับผลกระทบที่ชัดเจนจากภัยแล้งมากขึ้น

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้ในภาพรวมผลผลิตผลไม้สำคัญของไทยในภาพรวมปีนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว (กราฟิกประกอบ) แต่จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ลุกลามอาจทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ได้ อย่างไรก็ดีภัยแล้งที่เกิดขึ้นเวลานี้กระทบต่อราคาผลไม้เพื่อใช้แปรรูปส่งออกของโรงงานหลายรายการปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน

ตัวอย่างสับปะรด ราคาช่วงเดือนธันวาคม 2562 เฉลี่ยที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ณ เวลานี้ขยับเป็น 12.40 บาทต่อ กก. และมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นอีก เนื่องจากโรงงานยังมีความต้องการวัตถุดิบจำนวนมาก ราว 5,000 ตันต่อวัน ปัจจุบันมีเข้าโรงงานเพียง 3,500 ตันต่อวัน ซึ่งต้นสับปะรดที่พร้อมออกผลในช่วงซัมเมอร์ครอปจะมีประมาณ 30% จากมีพื้นที่บางส่วนเสียหายจากการขาดน้ำในการปลูก และมีความเสี่ยงตามมาคือไนเตรตในผลผลิตเกินค่ามาตรฐานกำหนด เนื่องจากการเร่งผลผลิตเพื่อตัดมาขายช่วงราคาดี จะส่งผลกระทบทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพของผลผลิต

ราคาผัก-ผลไม้พุ่ง   โรงงานแปรรูปแบกต้นทุนอ่วม

 

มะพร้าว วัตถุดิบปี 2563 ปริมาณที่รับซื้อในประเทศได้น้อยมาก ต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ ราคารับซื้อมะพร้าวปรับตัวสูงขึ้น ปัจจุบันรับซื้อที่ 19-20 บาทต่อผล และราคาเนื้อมะพร้าวขาว 40-42 บาทต่อกก. เนื่องจากราคามะพร้าวค่อนข้างสูงทำให้ส่วนใหญ่ขายเข้าตลาดหัวขูดมากกว่าโรงงาน บางโรงงานที่รับซื้อภายในประเทศ แต่ได้มะพร้าวประมาณวันละ 60 ตัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการในการผลิต

“หากช่วงต้นปีนี้ไม่มีฝนเลย จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตมะพร้าวในประเทศอย่างแน่นอน โดยเฉพาะช่วงพีกของมะพร้าวในเดือนมิถุนายน หากน้ำน้อยจะส่งผลให้ผลผลิตน้อยลงและมีขนาดเล็ก ซึ่งในภาคส่งออกขณะนี้ทำได้เพียงการรักษาปริมาณการส่งออกของลูกค้ารายเดิม ไม่หาลูกค้าใหม่เพิ่ม จากผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ รวมถึงมาตรการควบคุมการนำเข้ามะพร้าวของรัฐ ส่งผลให้ภาพรวมของสินค้ากะทิไม่น่าเติบโตไปกว่าปี 2562 ที่ไทยมีปริมาณการส่งออกกะทิสำเร็จรูป 263,146 ตัน มูลค่า 12,766 ล้านบาท”

นอกจากนี้ในส่วนของข้าวโพดอ่อน แห้ว หน่อไม้ ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ขณะที่ราคาผักที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต เวลานี้ภาพรวมปรับตัวสูงขึ้นราว 20% ส่วนข้าวโพดหวานซึ่งโดยปกติราคาวัตถุดิบในฤดู (มี.ค.-ส.ค.) จะมีราคาต่ำกว่าข้าวโพดนอกฤดู (พ.ย.-ก.พ.) แต่ตอนนี้พบว่าราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น และคาดจะยังทรงตัวที่ 5-6 บาทต่อ กก.ไปจนกว่าจะมีฝน

ด้านนายพรชัย เขียวขำ อดีตอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาราคามะพร้าวและสับปะรด สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ราคามะพร้าวที่เกษตรกรขายได้ที่ 19-20 บาทต่อผลเวลานี้ เป็นราคาที่ดีสำหรับเกษตรกร จากต้นทุนการผลิตที่ 8 บาท บวกค่าครองชีพและค่าเสียโอกาสอีก 4 บาท รวมต้นทุน 12 บาทต่อผล ซึ่งราคาที่เกษตรกรอยู่ได้อยู่ที่ 15-18 บาทต่อ กก. ปกติผลผลิตมะพร้าวจะเริ่มออกมาประมาณ 50-70% อยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และ 100% ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3550 วันที่ 20-22 กุมภาพันธ์ 2563