รักษาความมั่งคั่งอย่างไร  เมื่อดอกเบี้ย อยู่ในระดับตํ่าสุด  ในประวัติศาสตร์

21 ก.พ. 2563 | 02:25 น.

เปิดปี 2020 มาไม่นาน นักลงทุนหลายคนก็เริ่มรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ไปตามกัน ซึ่งไม่แน่ใจว่า ความรู้สึกเช่นนี้เกิดจากไวรัสที่กำลังระบาดหรือตลาดการเงินที่ผันผวนกันแน่

แต่ผมมั่นใจว่า ผู้ฝากเงินหรือผู้ที่ลงทุนเฉพาะในพันธบัตรระยะสั้น เป็นกลุ่มที่จะไม่สบายตัวมากที่สุด เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับ “ลด” ดอกเบี้ยนโยบายลงมาสู่ระดับตํ่าสุดในประวัติกาลที่ 1.00% ไปเรียบร้อย ซึ่งหมายความว่า นักลงทุนกลุ่มนี้ต้องเจอกับผลตอบแทนที่ไม่เพียงพอต่อการรักษาความมั่งคั่งในระยะยาวจนหลายคนเกิดคำถามว่า “ถ้ารู้ตัวและอยากปรับแต่ก็ยังไม่กล้ารับความเสี่ยงสูงควรขยับตัวอย่างไร”

ที่จริงแล้ว คำถามนี้ไม่มีคำตอบตายตัว เพราะแต่ละสินทรัพย์มีรูปแบบความเสี่ยงที่ต่างกัน ขณะที่เป้าหมายนักลงทุนหรือความเสี่ยงที่รับได้ ก็ไม่เหมือนกันด้วย

แต่อย่างน้อย ก็ควรถือจังหวะนี้กลับมาทบทวนว่า ทางเลือกการลงทุนที่เน้นไปทางผลตอบแทน (Income) มีอะไรบ้าง แต่ละอย่างให้ผลตอบแทนเท่าไหร่และมีความเสี่ยงแตกต่างกันอย่างไร

รักษาความมั่งคั่งอย่างไร  เมื่อดอกเบี้ย อยู่ในระดับตํ่าสุด  ในประวัติศาสตร์

เริ่มด้วยง่ายที่สุดผลตอบแทนสามารถเพิ่มขึ้นได้ด้วยการย้ายมาถือพันธบัตรระยะยาว ในตลาดจะเรียกพฤติกรรมนี้ว่า เพิ่มดูเรชันปัจจุบันยีลด์ที่เราได้จะสูงขึ้น (spread) ประมาณ 0.25% สำหรับ 10 ปี และ 1.0% สำหรับ 30 ปี แลกมาด้วยความผันผวนที่จะขึ้นมาอยู่ในช่วง 3-4% (สำหรับช่วงอายุ 5-10 ปี) โดยความเสี่ยงหลักคือ ธปท.อาจปรับดอกเบี้ยขึ้น เช่น คิดว่าในอนาคตอีก 10 ปี ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% หรือไม่ ถ้าคิดว่าไม่ ก็ควรลงทุนตอนนี้เลย

แต่ถ้ายีลด์ยังไม่น่าสนใจพอหรืออยากได้ผลตอบแทนที่คุ้มความเสี่ยงหุ้นกู้ภาคเอกชนไทย ก็เป็นอีกหนึ่งทางตอบโจทย์ เพราะ spread ที่เราจะได้รับเพิ่มจากการรับความเสี่ยงด้านเครดิตในตอนนี้มีถึง 3% (สำหรับหุ้นกู้ rating BBB อายุ5-10ปี) ส่วนเพิ่มนี้สูงเมื่อเทียบกับอดีตและถือว่าค่อนข้างคุ้มกับความผันผวน 4-5% ของตราสารหนี้

แต่แน่นอนว่า  ความเสี่ยงหลักที่จะต้องรับเพิ่มเติม นอกจากดอกเบี้ยนโยบายก็คือการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจเกิดได้บ่อยขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไม่แข็งแกร่ง ดังนั้นจะเลือกลงทุนในหุ้นกู้หรือไม่ก็ไม่ต่างกับคำถามว่า ในช่วงอายุของตราสารนั้นเศรษฐกิจจะชะลอตัวจนบริษัทขาดทุนจนต้องเบี้ยวหนี้หรือเปล่า

ส่วนนักลงทุนที่กังวลกับเศรษฐกิจไทยหรือเงินบาทปัจจุบันก็สามารถเลือกลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศได้แล้ว โดยการลงทุนในตราสารเหล่านี้มี 3 เรื่องที่ต้องคิด อย่างแรกคือ ความเสี่ยงของประเทศที่ลงทุน อย่างที่ 2 คือ เราจะรับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนด้วยไหม และท้ายที่สุดต้องถามว่า เรารับความเสี่ยงของภาคเอกชนในประเทศนั้นด้วยหรือเปล่า

ถ้ามองเฉพาะผลตอบแทน แน่นอนว่า ดีที่สุดคือรับความเสี่ยงหมดทั้ง 3 อย่าง ซึ่งก็หมายความว่า นักลงทุนต้องทนกับการเมืองของประเทศอย่างบราซิล ตุรกี รัสเซีย และความผันผวนระดับ 6-7% ให้ได้

ท้ายที่สุดนอกจากผลตอบแทนและความเสี่ยงแล้วนักลงทุนยังสามารถใช้แนวโน้มของเศรษฐกิจมาเป็นมุมมองเสริมในการเลือกลงทุนได้

วิธีการคิดคือ มองวัฏจักรธุรกิจและแบ่งการลงทุนเป็นพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ที่ไหนที่เข้าระยะถดถอย 
(Recession) ก็ต้องหลีกเลี่ยงหุ้นกู้แต่พันธบัตรรัฐบาลก็จะน่าสนใจเพราะมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้แต่ที่ไหนที่เริ่มฟื้นตัว (Recovery) ก็ควรขายพันธบัตรที่ราคาอาจปรับตัวลงและหันไปซื้อหุ้นกู้แทน ซึ่งถ้าอยู่ถูกที่ถูกเวลาก็อาจได้ผลตอบแทนมากกว่าแค่คูปองจากหน้าตั๋วได้เช่นกัน

สำหรับผมมองว่า การลงทุนที่ไม่เสี่ยงไม่ต่างจากการซื้อประกันความผันผวนดอกเบี้ยที่ตํ่าขนาดนี้แท้จริงก็ไม่ต่างกับการบอกว่าค่าประกันความเสี่ยงตลาดปรับตัวสูงขึ้นแล้ว

ในอนาคตไม่ใช่แค่เรา แต่ทั่วทั้งตลาดต้องขยับตัวรักษาความมั่งคั่งของตัวเองแน่นอนครับ

 

คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์

โดย : ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

ประธานนักกลยุทธ์ตลาดทุน สายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,550 วันที่ 20-22 กุมภาพันธ์ 2563