Covid-19 กระทบราคาน้ำมันดิบ

20 ก.พ. 2563 | 23:10 น.

การระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่เริ่มต้นจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยในจีน จนแพร่กระจายไปสู่ประเทศต่างๆ ไม่น้อยกว่า 24 ประเทศทั่วโลก ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อจีนและประเทศต่างๆ ทันทีอย่างตั้งตัวไม่ติด และจะยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปในอนาคต ถึงแม้จะสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้แล้วก็ตาม

เมื่อเศรษฐกิจถูกกระทบย่อมต้องส่งผลโดยตรงไปยังความต้องการนํ้ามันที่จะต้องชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศที่ถูกกระทบมากที่สุดคือจีน ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และนำเข้านํ้ามันดิบมากเป็นอันดับ 1 ของโลก

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency-IEA) ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาด้านพลังงานของประเทศในกลุ่ม OECD และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก็ได้ปรับลดประมาณการความเติบโตของความต้องการนํ้ามันโลกในปีนี้ลงจากเดิม โดยคาดว่าปีนี้จะเติบโตเพียง 825,000 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่น้อยที่สุดในรอบ 9 ปี นับจากปี 2011 เป็นต้นมา

IEA ยังคาดว่าไตรมาส 1 ปีนี้จะเป็นไตรมาสแรกในรอบมากกว่า 10 ปี นับจากเกิดวิกฤติการเงิน (Financial Crisis) เมื่อปี 2009 ที่ความต้องการนํ้ามันจะลดลงถึง 435,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว

นับตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา ราคานํ้ามันดิบ Brent พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดของปีนี้ที่ 71.75 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จนถึงปัจจุบันราคานํ้ามันได้ลดลงมาแล้วมากกว่า 16 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือเกือบ 23% และยังไม่รู้ว่าถึงจุดตํ่าสุดหรือยัง การที่จะประเมินว่าราคานํ้ามันได้ลงมาถึงจุดตํ่าสุดหรือยังเป็นเรื่องยาก ขึ้นอยู่กับตัวแปรและปัจจัยหลายประการ ซึ่งพอสรุปได้ดังต่อไปนี้

1. การระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวจะถูกควบคุมได้หรือสิ้นสุดลงเมื่อใด จะจบเร็วหรือยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน เพราะถ้ายิ่งลากยาวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจโลกก็จะยิ่งสูงขึ้น

2. ไม่ว่าจะจบลงได้เร็วหรือช้า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนจะเป็นอย่างไร และจีนจะมีมาตรการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างไร

3. ท่าทีของกลุ่มโอเปกที่นำโดยซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรที่นำโดยรัสเซีย เพื่อรับมือกับราคานํ้ามันที่ตกตํ่าลงจะเป็นอย่างไร รัสเซียจะเห็นด้วยกับข้อเสนอลดการผลิตลงอีก 600,000 บาร์เรลต่อวัน ของกลุ่มโอเปกหรือไม่

4. การผลิตนํ้ามันดิบของสหรัฐฯ จะยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราที่ทำให้สต๊อกนํ้ามันดิบโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่

5. สถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง จะกลับมารุนแรงขึ้นอีกหรือไม่

จะเห็นได้ว่าคำถามทั้ง 5 ข้อนี้ล้วนแต่มีความไม่แน่นอนสูงมาก โดยขณะนี้มีการตั้งสมมติฐานว่าผลกระทบจากวิกฤติไวรัสต่อเศรษฐกิจและความต้องการ นํ้ามันของจีนในไตรมาส 1 ปีนี้จะค่อนข้างสูง โดยจะลดลงถึง 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และการผลิตนํ้ามันดิบของสหรัฐฯ ก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะในแหล่ง Permian Basin ที่เป็นแหล่งผลิต Shale Oil ที่สำคัญของสหรัฐฯ (40% ของการผลิตนํ้ามันดิบในสหรัฐฯ) ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 800,000 บาร์เรลต่อวัน จากปีที่แล้ว สู่ระดับ 5.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้

จากเหตุผลทั้งหมด ผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่าราคานํ้ามันดิบยังไม่ถึงจุดตํ่าสุดครับ !!!

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,550 วันที่ 20 - 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

Covid-19 กระทบราคาน้ำมันดิบ