“จุรินทร์”สั่งลุย11เรื่องด่วนหนุนค้าชายแดนไทย-มาเลย์

16 ก.พ. 2563 | 06:18 น.

16 กุมภาพันธ์ 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย โรงแรมอิมพิเรียล จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมด้วยพร้อมผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

นายจุรินทร์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ แถลงว่าที่ประชุมมีมติ 11 เรื่องสำคัญ ดังนี้ 1.จุดเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่ได้ข้อยุติแล้ว ขั้นต่อไป คือ กำลังสำรวจและออกแบบถนนร่วมกันโดยกรมทางหลวง  คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นเดือนมีนาคม ความยาวประมาณ 1 กม. งบประมาณประมาณ 140 ล้านบาท และคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคจะประชุมเพื่อเห็นชอบจุดเชื่อมดังกล่าวภายในเดือนเมษายนนี้ ถ้าได้รับจัดสรรงบประมาณ จะก่อสร้างเสร็จภายใน 1 ปี แต่สามารถเปิดด่านสะเดาแห่งใหม่ได้ภายในตุลาคมนี้ โดยเชิญรถขนส่งสินค้าเข้ามาใช้บริการก่อน

2.ด้านการเร่งรัดการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนไทย-มาเลเซีย และร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งผู้โดยสารทางถนนข้ามพรมแดนไทย-มาเลเซีย จะสามารถลงนาม MOU ได้ในอีกประมาณ 4 เดือน โดยไทยได้ส่งร่าง MOU ให้มาเลเซียพิจารณาแล้ว และมาเลเซียจะตอบกลับมาภายในมีนาคมนี้ และจะเสนอ ครม.เห็นชอบ จากนั้นจะสามารถลงนามได้ทันที โดยสินค้าไทยสามารถข้ามพรมแดนส่งไปถึงสิงคโปร์ได้

3.การเปิดด่านศุลกากรสะเดา-บูกิตกายูฮิตัม 24 ชั่วโมง ซึ่งเสนอโดย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เห็นว่า จากนี้ไทยและมาเลเซียจะร่วมกันประเมินผลความคุ้มค่าของการขยายเวลาเปิดด่านภายในเดือนเมษายนนี้  เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาขยายเวลาต่อไปหรือไม่ ซึ่งประโยชน์ ที่เห็นชัดคือความรวดเร็วของการขนส่ง

4.การเร่งรัดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ณ อำเภอสุไหงโก-ลก แห่งที่ 2(สุไหงโก-ลก - รันเตาปันยัง) (เสนอโดย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย) ได้มอบ ศอ.บต.เป็นเจ้าภาพในการติดตามความคืบหน้า

5.การเร่งรัดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ณ อำเภอตากใบ (ตากใบ-เปิงกาลันกุโบร์) (เสนอโดย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย) โดย เร่งสร้างแพขนานยนต์อันใหม่ให้เสร็จสิ้นและให้บริการได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยมีการตั้งงบประมาณไว้แล้ว 39 ล้านบาทโดย อบจ. นราธิวาส มอบ ศอ.บต.เร่งรัดติดตามความคืบหน้าต่อไป และสำหรับด่านบูเก๊ะตา ที่มีปัญหาในความไม่พร้อมของสถานที่ทำงานของหน่วยงาน 7 หน่วยงาน ที่ประชุมมอบ ศอ.บต.เป็นเจ้าภาพเชิญหน่วยงาน 9 หน่วยหารือ เพื่อทำให้ด่านบูเก๊ะตาใช้คอนเทนเนอร์ทำงานชั่วคราว เพื่อเร่งอำนวยความสะดวก ผู้ประกอบการให้เร็วที่สุด และหาข้อสรุปภายในสองสัปดาห์ และ รองนายกฯจะเดินทางลงมาติดตามความคืบหน้าในปลายเดือนมีนาคมนี้

6.โครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางหาดใหญ่–ปาดังเบซาร์ ที่ประชุมเห็นชอบนโยบายให้สร้างรถไฟทางคู่ทั้งจาก กทม.ลงไป และสร้างจากสุไหงโก-ลก ขึ้นมา พร้อมกันทีเดียว โดย ศอ.บต.จะติดตามเรื่องนี้ และจะตั้งงบและเริ่มต้นศึกษาการสร้างรถไฟรางคู่ เส้นทางหาดใหญ่–ปาดังเบซาร์ ในปี 64

7. การลดขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารทางพิธีการศุลกากร ณ ด่านชายแดน โดยที่ประชุมมอบ ศอ.บต.เร่งรัดการจัดการลดอุปสรรคสำหรับยานพาหนะส่วนบุคคล ที่ต้องกรอกทั้งใบสำแดงสินค้าของกรมศุลกากรและใบ ตม 2 และ 3 (Border pass) ขอให้ลดขั้นตอนให้เหลือขั้นตอนเดียว ซึ่งจากการหารือเบื้องต้น พบว่าสามารถทำได้

8.การดำเนินโครงการเมืองยางพารา (Rubber City) โดยมีความคืบหน้าว่ามิชลินซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่จะซื้อน้ำยางสดได้หนึ่งแสนตันในปี 63 นี้ หลังจาก กนอ. ตกลงไปช่วยสนับสนุนการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ให้มิชลินสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ นอกจากนี้ กนอ. จะลดค่าเช่าให้ SMEs เหลือตรม.ละ 20 บาท จาก 150 บาท เพื่อจูงใจให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น

9.โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือโดยสารขนาดใหญ่ (Cruise) ที่ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ในเรื่องนี้ กรมเจ้าท่าทำการศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างสรุปรูปแบบการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ของทั้ง 2 แห่งคือ สมุย และภูเก็ต เพื่อเสนอ ครม. ในเดือนสิงหาคม ปี 2564 และระหว่างตุลาคม 64 และ กันยายน 65 จะคัดเลือกผู้ร่วมทุน และทำรายงาน EIA กำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2569 เปิดบริการปี 2570

10.การส่งเสริมการตลาดสินค้าศักยภาพ 247 รายการของ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งในประเทศและส่งออก ได้มอบกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หาทางช่วยเหลือส่งเสริมผู้ประกอบการขายออนไลน์และอื่นๆ รวมทั้งการเจรจากับบริษัทไปรษณีย์ไทยในการให้สร้างโปรโมชั่นพิเศษกับภาคเอกชนในการขนส่ง และจะขอข้อสรุปเรื่องนี้ตอนลงมาดูด่านบูเก๊ะตาในเดือนมีนาคม2563นี้

และ 11.กรณีไม่สามารถส่งออกนมและแป้งข้าวเจ้าไปมาเลเซียได้นั้น ได้มอบหมาย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้นำเข้าที่ประขุม JTC คณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-มาเลเซียครั้งหน้าต่อไป