เริ่มแล้วประมูล 5G

16 ก.พ. 2563 | 02:20 น.

ประมูล5G  พลิกโฉมไทย เป็นผู้นำรายแรกในอาเซียนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในโลกยุคใหม่

 

 

 

  นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่าในวันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2563) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในโลกยุคใหม่ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนอาจกล่าวได้ว่า หากเรามีการเปลี่ยนแปลงช้า คือ เราถอยหลังหากเรามีการเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วคือ เราอยู่กับที่ หากเราจะให้ประเทศเดินไปข้างหน้า เราจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทันทีและอย่างรวดเร็วที่สุด

​     วันนี้ สำนักงาน กสทช. จะไม่ปล่อยให้โอกาสของประเทศไทยอยู่กับที่ ในทางตรงข้ามเราจะเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และพลิกโฉมประเทศให้เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีในอาเซียนให้ได้ มีความล่าช้าด้าน 3G ล่าช้ากว่าประเทศอื่น 8 ปี สำหรับ 4G เราล่าช้ากว่าประเทศอื่นประมาณ 4 ปี วันนี้ประเทศไทยกำลังจะมีการเปิดให้บริการ 5G ทางด้านธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบเป็นลำดับต้นๆ ของโลก

เริ่มแล้วประมูล 5G

    การประมูลคลื่นความถี่ที่จะมีขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ มีคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นประมูลเป็นเงิน 26,376 ล้านบาท

คลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นประมูลเป็นเงิน 35,378 ล้านบาท และคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz จำนวน 27 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นประมูลเป็นเงิน 11,421 ล้านบาท รวมทั้ง 3 ย่านความถี่ มีจำนวนทั้งสิ้น 49 ใบอนุญาต ราคาขั้นต่ำรวมทั้งสิ้น 73,175 ล้านบาท หลังจากที่มีการประมูลเสร็จแล้ว สำนักงาน กสทช. คาดการณ์ขั้นต่ำว่าจะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2563 ประมาณ 177,039 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1.02% ของ GDP ในปี 2563 สำหรับในปี 2564 คาดว่าจะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจขั้นต่ำประมาณ 332,619 ล้านบาท และในปี 2565 จะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประมาณ 476,062 ล้านบาท

เริ่มแล้วประมูล 5G

    นอกจาก 5G จะช่วยในขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแล้ว สิ่งที่สำนักงาน กสทช. จะละเลยไปไม่ได้ คือ ภาคประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชนบท สำนักงาน กสทช. จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เทคโนโลยี 5G ในการลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านการสาธารณสุข ที่จะต้องพัฒนาให้โรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะหรือ smart hospital ที่ประชาชนสามารถรับบริการทางการแพทย์ทางไกล หรือ Tele-health ได้ โดยในขณะนี้ได้มีความตกลงกับกระทรวงสาธารณสุขที่จะให้มีการรักษา 4 โรคได้แล้ว คือ โรคตา โรคผิวหนัง โรคความดัน และโรคเบาหวาน และในอนาคตข้างหน้าจะมีการขยายให้ครอบคลุมมากกว่า 4 โรค

​ด้านการศึกษา เทคโนโลยี 5G จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ กระจายโอกาส และสร้างการเรียนรู้ให้เท่าเทียมกันของเยาวชนในพื้นที่ชนบท ผ่านระบบการเรียนการสอนออนไลน์ด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่มีคุณภาพทัดเทียมกับพื้นที่เมือง

​​    ด้านเศรษฐกิจชุมชนและสังคม การใช้ประโยชน์ 5G จะช่วยส่งเสริม

ให้เกิดเศรษฐกิจชุมชนรูปแบบใหม่ ที่คนในชุมชนสามารถทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต สร้างธุรกิจออนไลน์ Start up หรือต่อยอดธุรกิจเดิม โดยใช้เทคโนโลยี 5G ทำให้คนในชนบทไม่จำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อเข้ามาทำงานในเมือง และเกิดการกระจายรายได้ ทำให้พื้นที่ในชนบทมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในภาพรวม และเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวได้อีกด้วย

​    ด้านการเกษตร เกษตรกรจะสามารถใช้เทคโนโลยี 5G ในการวางแผนการใช้ทรัพยากรสำหรับการผลิต การตลาด และการบริหารสินค้าคงคลังเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างแม่นยำ

​    ในส่วนของการดำเนินงานหลังจากนี้ สำนักงาน กสทช. จะกำกับดูแลอัตราค่าบริการที่เป็นธรรม สะท้อนต้นทุน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและนำบริการ 5G ไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ

​    อย่างไรก็ตาม กสทช. และสำนักงาน กสทช. เชื่อมั่นว่าการประมูลคลื่นความถี่ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศไทย