รื้อค่าธรรมเนียมแบงก์ สร้างความเป็นธรรม

16 ก.พ. 2563 | 02:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3549 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ.63

 

          ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณออกมาอย่างชัดเจนว่าภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ จะรื้อการกำหนดค่าธรรมเนียมของสถาบันการเงินทั้งระบบ ครอบคลุมค่าธรรมเนียมทุกประเภทประมาณ 200-300 รายการ ในทุกกลุ่มธุรกิจทั้งธุรกิจลูกค้ารายใหญ่ ลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ตลอดจนลูกค้ารายย่อย หลังจากที่ผ่านมามีการให้สถาบันการเงินปรับค่าธรรมเนียมไปแล้ว 3-4 รายการ ซึ่งถือเป็นการนำร่องก่อนการประกาศใช้แนวทางการคิดค่าธรรมเนียมอย่างเต็มรูปแบบครอบคลุมค่าธรรมเนียมทุกประเภทในไตรมาส 3 ของปีนี้

          จากสถิติรายได้ค่าธรรมเนียมของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นปี 2562 ที่ผ่านมา มีมูลค่า1.91 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 29%ของรายได้สถาบันการเงินทั้งระบบ เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่มีรายได้ 71% หรือ 4.8 แสนล้านบาท โดยค่าธรรมเนียมจากการขายประกันกองทุนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งหมด ส่วนอีก 20% คือ ค่าธรรมเนียมในส่วนบัตรเครดิต 18.4% ค่าธรรมเนียมการให้สินเชื่อและทวงหนี้ 18.3% ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิต และ 10.3% เป็นค่าบริการโอนเงิน จ่ายบิล เป็นต้น         

ขณะที่สถิติค่าธรรมเนียมของ 5 แบงก์ใหญ่ พบว่า แบงก์ที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมมากที่สุด คือ กสิกรไทยราว 5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 33% ของรายได้ทั้งหมด รองลงมาคือ ธนาคารกรุงเทพ 30% หรือ 3.9 หมื่นล้านบาท และธนาคารไทยพาณิชย์ 28% หรือ 3.9 หมื่นล้านบาท และธนาคารกรุงศรีอยุธยา 28% หรือ 2.9 หมื่นล้านบาท และกรุงไทยที่ 25% หรือ 2.9 หมื่นล้านบาท

          แน่นอนว่าการปรับลดการคิดค่าธรรมเนียมที่กำลังจะเกิดขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ของธนาคาร แต่ในทางกลับกันจะสร้างความเป็นธรรมให้กับลูกค้าและสร้างมาตรฐานให้กับสถาบันการเงินทั้งระบบ ซึ่งเราเห็นด้วยกับนโยบายของธปท. ที่จะมีนโยบายให้สถาบันการเงินปรับค่าธรรมเนียมให้สมเหตุสมผลมากขึ้น สะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ ไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควร คำนึงถึงความสามารถในการชำระของผู้ใช้บริการ รวมทั้งจะต้องเปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้บริการ