บุคลากรทางการแพทย์จีน เสียชีวิต 6 ติดไวรัส 1.7พันคน

15 ก.พ. 2563 | 06:10 น.

รายงานจาก hfocus - จีนยอมเปิดตัวเลขพบสตาฟสาธารณสุขติด COVID-19 ถึง 3.8% จากจำนวนผู้ป่วยมากไป – อุปกรณ์ทางการแพทย์ขาดแคลน ด้านอเมริกาถามหา “ความโปร่งใส” ย้ำพร้อมช่วย แต่ไม่ได้รับโอกาสให้ช่วย

 

การปรับตัวเลขผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID – 19 ที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว นับตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบโดยตรงกับ “บุคลากรทางการแพทย์” ในฐานะ “ด่านหน้า” ในการรับมือกับโรค COVID – 19 ซึ่งยังไม่มีทีท่าจะสงบลงง่ายๆ

13 ก.พ. ที่ผ่านมา จีนเพิ่งส่งหมออีก 1,000 คนจากทั่วประเทศ พยาบาล 1,681 คน และผู้เชี่ยวชาญอีก 213 คน จากหลายเมือง ไม่ว่าจะเป็นเทียนจิน เหอเป่ย และซานซี เพื่อเดินทางไปยังมณฑลหูเป่ย ใจกลางสมรภูมิรบกับโคโรนาไวรัส โดยทั้งหมด ถูกกระจายตัวไปยัง 16 เมือง รอบมณฑล

ขณะเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์ของ “กองทัพสาธารณรัฐจีน” อีกกว่า 2,600 คน ก็ถูกส่งเข้าไปในอู่ฮั่นในวันเดียวกัน เกา หยานหง บอกว่า ขณะนี้มีหมอ - พยาบาล อยู่ในพื้นที่ รวมกันกว่า 7,000 คนแล้ว โดยตั้งเป้าหมายว่าจะลดจำนวนการตาย ซึ่งขณะนี้มีสูงถึง 1,380 คน และเพิ่มขึ้นลงวันละประมาณ 100 คน ลงให้ได้

ปัญหาก็คือ หมอ - พยาบาล 7,000 คน ต่อผู้ป่วย 6.4 หมื่นคน อย่างไรก็ไม่มีทางพอ ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวม ห้องกักกันเชื้อความดันลบ อุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวนเตียงในโรงพยาบาล จำนวนชุดตรวจวินิจฉัยโรค ที่ยังไงด้วยผู้ป่วยขนาดนี้ ก็มีจำนวนไม่เพียงพอ

 

ที่ดูจะเป็นปัญหาหนักสุดก็คือ “อุปกรณ์ป้องกัน” การติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ หลังจากที่จีนปิดข้อมูลมานานว่าในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด มีมากเท่าไหร่ ล่าสุด เซง ยี่ซิน รองผู้อำนวยการประจำคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติจีน แถลงว่า มีบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 1,716 คน ที่มีเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อยู่ในร่างกาย โดยหากเทียบกับอัตราส่วนผู้ป่วยทั้งหมดแล้ว มีบุคลากรทางการแพทย์ ป่วยด้วยโรคนี้มากกว่า 3.8% และในจำนวนนี้ มี 6 รายที่เสียชีวิตไปแล้ว

แม้สำนักข่าวในจีน จะรายงานว่าสถานการณ์ในจีนยัง “เอาอยู่” และ “ดีขึ้น” มากแค่ไหน หรือจะสะท้อนความอดทนว่าแพทย์ – พยาบาลในอู่ฮั่น อดทนและเอาจริงเอาจัง ถึงขนาด “โกนหัว” เพื่ออุทิศตนในการรักษาผู้ป่วย แต่ในความเป็นจริงก็คือ จีนยังไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อปกป้องบุคลากรสาธารณสุขได้ดีพอ ขณะเดียวกัน จำนวนหมอ – พยาบาลต่อคนไข้ที่มี ก็ชัดเจนว่าแต่ละคนจะต้องทำงานหนักหนาสาหัส เพื่อช่วยชีวิตคนไข้ให้ได้มากที่สุด ตามคำสั่งของรัฐบาลจีน

จึงเกิดเรื่องน่าเศร้า อย่างการเสียชีวิตของ พญ.ซู ฮุย รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนหนานจิง วัย 51 ปี ซึ่งทำงานต่อเนื่องนาน 18 วัน โดยไม่หยุดพัก เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา แต่ทั้งหมดนี้ จีนก็ยังยืนยันว่าไม่ต้องการรับความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์จากนานาชาติ และแม้ว่าแพทย์ – พยาบาลในจีนจะทำงานหนัก แต่ก็ยังสามารถบริหารจัดการได้

แต่สหรัฐอเมริกา กลับไม่ได้คิดอย่างนั้น แลร์รี คุดโลว์ ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ สหรัฐฯ แถลงข่าวระบุว่า รู้สึกผิดหวังเล็กน้อย ที่จีนไม่ให้สหรัฐฯ ซึ่งมีหน่วยงานเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะอย่างสำนักงานควบคุมโรคระบาด (The United States Centers for Diseases Control หรือ CDC) เข้าไปให้ความช่วยเหลือ และร่วมประเมินสถานการณ์ ขณะเดียวกัน แลร์รี ก็รู้สึกว่าจีน มีความ “ผิดปกติ” ในเรื่องความโปร่งใสอยู่เล็กน้อย และจีนควรเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกเข้าร่วมจัดการกับโคโรนาไวรัส 2019 มากกว่านี้ โดยอาจให้แต่ละชาติ ส่งผ่านความร่วมมือผ่าน องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) หรือสหประชาชาติก็ได้ แต่จีนกลับเลือกที่จะไม่ทำ

 

อย่างไรก็ตาม เกง ฉวง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ยืนยันผ่านการแถลงข่าวผ่าน แอปพลิเคชัน WeChat ว่า ได้ร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา รวมถึง CDC มาโดยตลอด และจีนมีข้อมูลอะไรก็เปิดเผยทั้งหมด

สุดสัปดาห์นี้ ทีมผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก จะเข้าไปยังจีน แบบ “ฟูลทีม” ในช่วงสุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้ หลังจากจีน เพิ่งอนุญาตให้ทีมจาก WHO เข้าไปในจีน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า จีนอาจปิดซ่อนอะไรอยู่ ความช่วยเหลือที่ส่งไปยัง WHO ถึงได้ล่าช้าไปมาก จนสถานการณ์เลยเถิดไปเรียบร้อย

ทว่า WHO กลับประเมินสถานการณ์ ยืนยันว่าจีนสามารถ “ตั้งรับ” กับสถานการณ์ไวรัสได้อยู่มือ และจีนเองก็ชม WHO ว่า สามารถจัดการกับไวรัสได้ดีเช่นกัน

ท่าทีจากกระทรวงต่างประเทศจีน ยังไม่ได้มีแค่นั้น ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีน เพิ่งตำหนิอเมริกา ในเรื่องการ “แบน” ไม่ให้คนจีนเข้าประเทศ และวันที่ 14 ก.พ. ก็ตำหนิรัฐบาลออสเตรเลีย หลังจากขยายเวลาการห้ามคนจีนเข้าประเทศออกไปอีก 1 สัปดาห์

พร้อมกับกล่าวชื่นชมประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ที่ยังให้คนจีนเข้า - ออก ได้ตามปกติ และยึดหลัก “วิทยาศาสตร์” ในการไม่แบนคนจีนพร่ำเพรื่อ โดยกระทรวงต่างประเทศจีน ยืนยันว่าในเมื่อ WHO ไม่แนะนำให้แบนคนจีน ประเทศสมาชิก WHO ก็ควรจะปฏิบัติตามไกด์ไลน์ของ WHO อย่างเคร่งครัด

ปัจจุบัน ประเทศเช่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อิรัก และ ไต้หวัน ห้ามทุกคนที่เดินทางไปจีนในรอบ 14 วัน เดินทางเข้าประเทศโดยเด็ดขาด

ตัวเลขผู้ติดเชื้อนอกจีนล่าสุด ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน โดยสิงคโปร์ มีผู้ติดเชื้อรวมกว่า 67 ราย เพิ่มขึ้น 9 ราย และฮ่องกง มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 56 ราย หรือเพิ่มขึ้น 3 รายแล้ว