บาทกลับทิศ  เตือนส่งออกรับมือ

17 ก.พ. 2563 | 00:00 น.

กูรูชี้บาทอ่อน แต่ไม่เอื้อการค้า เหตุคู่แข่งอ่อนกว่าเตือนผู้ส่งออกปิดความเสี่ยง รับมือบาทกลับทิศ ระบุจีดีพีปี 2563 ยังอยู่บนความไม่แน่นอน จับตาผลกระทบไวรัส กดจีดีพีไตรมาส 1 รูดตํ่า

ความกังวลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้นักค้าเงินเทขายเงินบาท จากผลกระทบรายได้ท่องเที่ยวที่จะหายไปจำนวนมาก เหตุเพราะไทยมีนักท่องเทียวจีนในสัดส่วนสูง โดยจากต้นปีถึง 12 กุมภาพันธ์ เงินบาทอ่อนค่าแล้ว 3.3% เมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ จึงมองว่า น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทย จากปีก่อนที่แข็งค่าขึ้นเกือบ 8% จนทำให้การส่งออกติดลบถึง 2.5% ทำให้เศรษฐกิจปี 2562 ชะลอลง ซึ่่งสนง.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จะประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ไตรมาส 4 และปี 2562 รวมถึงประมาณการปี 2563 ในวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์นี้

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เงินบาทกลับทิศมาอ่อนค่าในปีนี้ แม้ความคาดหวังของผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยากเห็นเงินบาทอ่อนค่าที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ แต่การอ่อนค่าของเงินบาทไม่เอื้อต่อการทำการค้า เนื่องจากสกุลเงินของประเทศคู่แข่งอ่อนค่ากว่า ขณะเดียวกันที่คู่ค้าหลักอย่างจีน เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทำให้กระทบกำลังซื้อน้อยลง

ส่วนเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2562 ยังไม่ค่อยดีนัก เมื่อดูจากตัวเลขเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่สะท้อนภาคการผลิตทั้ง ภาคเกษตรที่ติดลบจากปัจจัยภัยแล้ง หรือภาคอุตสาห กรรมที่ติดลบมากกว่าไตรมาส 3 ประกอบกับยังไม่เห็นสัญญาณบวกจากภาคส่งออก จึงคาดว่า จีดีพีไตรมาส 4 น่าจะขยายตัวได้ 2.4% แต่หากตัวเลขที่ออกมาตํ่ากว่า 2.4% อาจจะเห็นจีดีพีปี 2562 ขยายตัวตํ่ากว่า 2.5%

บาทกลับทิศ  เตือนส่งออกรับมือ

สำหรับทิศทางปี 2563 สถานการณ์จะขึ้นกับระยะเวลาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าจะกินเวลาเกิน 3 เดือน หรือจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสรายใหม่หรือไม่ แต่ที่ผ่านมา 1 เดือนเศษ เริ่มมีโอกาสที่จะเห็นจีดีพีไหลลงซึ่งถ้าเชื้อไวรัสส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและภาคการค้าไม่สามารถดำเนินธุรกิจ ได้ จึงมีความเสี่ยงต่อการขยายตัวของจีดีพีในปี 2563 ที่อาจจะเติบโตตํ่ากว่ากรอบล่าง จากที่ประเมินไว้ในอัตรา 2.5 -2.7%

“ตอนนี้พอจะบอกทิศทางและความกังวลได้ว่า ตัวเลขจีดีพีน่าจะไหลลง ส่วนจะหลุดกรอบตํ่ากว่า 2% หรือไม่ ขอเวลาให้แน่ใจว่า การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสจะกินเวลาเกิน 3 เดือนหรือไม่ โดยจะทบทวนตัวเลขคาดการณ์จีดีพีอีกครั้งในเดือนมีนาคม”

 

บาทกลับทิศ  เตือนส่งออกรับมือ

อมรเทพ จาวะลา

นอกจากปัจจัยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะมีผลทางตรงต่อภาคการท่องเที่ยวกับการส่งออกแล้ว ผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจจีนที่จะขยายตัวในอัตราชะลอลง จะมีผลต่อการจับจ่ายและกำลังซื้อที่จะหายไปในจีน ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อไทย ขณะที่ปัจจัยในประเทศยังไม่ชัดเจนว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณจะสามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและชดเชยผลกระทบได้แค่ไหน และยังมีประเด็นภัยแล้ง ที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่ามาตั้งแต่ต้นปี เป็นการอ่อนค่านำสกุลเงินอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่ไตรมาส 2  ปกติจะเป็นช่วงที่ไทยเกินดุลการค้าน้อยที่สุด ดังนั้นเงินบาทจึงมีโอกาสอ่อนค่า แต่ไม่น่าจะอ่อนค่าลากยาวและมีโอกาสที่จะพลิกกลับไปแข็งค่าได้ จึงเป็นจังหวะที่ผู้ส่งออกควรจะปิดความเสี่ยง เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

ธนาคารเห็นสัญญาณการชะลอตัว ทั้งการนำเข้าเครื่องจักร บวกกับความเชื่อมั่นระดับกลางและระดับบนที่ลดลง สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ปรับลง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นปัจจัยเดียวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไตรมาส 4 ดังนั้น จึงประเมินภาพเศรษฐกิจปี 2562 ว่ามีโอกาสขยายตัว 2.4% แต่ปี 2563 เนื่องจากยังไม่มีตัวเลขเศรษฐกิจออกมาอย่างชัดเจน มีเพียง 3 ปัจจัยลบที่ชี้นำเศรษฐกิจคือ การแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ภัยแล้งและงบประมาณที่ล่าช้าทำให้มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ ประเมินภาพเศรษฐกิจบนความไม่แน่นอน

ธนาคารปรับลดประมาณการจีดีพีปี 2563ลงจาก 2.7% เหลือ 2.4% และไตรมาสแรกปี 2563 มีโอกาสที่ถูกกระทบจากภาคต่างประเทศ ทำให้ขยายตัวที่ 1.8% ขณะที่ดัชนีการค้าปลีกสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง จึงกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งต้องจับตาตัวเลขดัชนีค้าปลีกกับจำนวนนักท่องเที่ยวในระยะถัดไปที่อาจจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศไทยและต้องเตรียมรับมือให้ดี

“แม้ภาคส่งออกปรับลด แต่การนำเข้ากลับหดตัวแรงกว่า ทำให้ตัวเลขไม่ปรับตัวตํ่ารุนแรง ดังนั้นแม้จีดีพีไตรมาสแรกปี 2563 จะขยายตัว 1.8% แต่ยังไม่น่าจะเป็นอัตราตํ่าที่สุด เพราะยอดการส่งออกไม่น่าจะทรุดตัวรุนแรง เนื่องจากที่ผ่านมาทั้งในส่วนของการส่งออกและการท่องเที่ยวจะมีการจองล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือนแต่การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอาจลากยาวถึงครึ่งปี”

หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,549 วันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2563