รุมอัดผอ.ใหม่ อ.ต.ก. ล้ำเส้น เรียกค่าเสียหายข้าวจีทูจี

14 ก.พ. 2563 | 08:58 น.

คลัง-พาณิชย์ มึน ผอ.อ.ต.ก.คนใหม่ เครื่องร้อนยื่นกรมบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยข้าวจีทูจี ห่วงถูกฟ้องกลับ เหตุศาลยังไม่ออกหมายบังคับคดี

กรณีนายศุภฤกษ์ เอี่ยมลออ รักษาการผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ออกมาระบุว่า นับตั้งแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาให้จำเลยคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย เป็นเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562

แต่จนถึงขณะนี้หน่วยงานผู้เสียหาย 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.กรมการค้าต่างประเทศ 2.องค์การคลังสินค้า (อคส.) 3. องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก) 4.กระทรวงพาณิชย์ และ5.กระทรวงการคลัง ยังไม่มีความคืบหน้าในการยื่นเรื่องต่อกรมบังคับคดี เพื่อบังคับให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษา 

ศุภฤกษ์ เอี่ยมลออ รักษาการผอ.อ.ต.ก.
"อ.ต.ก.จึงยื่นเรื่องต่อกรมบังคับคดี เพื่อบังคับหรือยึดทรัพย์จำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว โดยไม่รอกรมการค้าต่างประเทศ อคส. กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง"


แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า นายศุภฤกษ์น่าจะมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดี เพราะกระบวนการบังคับคดีเป็นการดำเนินการทางแพ่ง ซึ่งมีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้วสำนักงานอัยการสูงสุดยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอให้ออกหมายบังคับคดี ซึ่งสำนักงานอัยการกำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่ 


"เรื่องนี้มีขั้นตอนและกระบวนการทางกฎหมายชัดเจน ไม่ใช่อยู่ๆเราจะไปขอให้กรมบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์กับจำเลยได้แบบที่นายศุภฤกษ์กำลังดำเนินการ เพราะอาจจะถูกฟ้องกลับได้ แต่ก็ยังอดแปลกใจไม่ได้ว่าทำไมเจ้าหน้าที่อ.ต.ก.ที่เข้าร่วมประชุมเรื่องนี้ด้วยทุกครั้ง ไม่แจ้งให้นายศุภฤกษ์รับทราบว่าขั้นตอนทางกฎหมายเป็นอย่างไร"

สำหรับการบังคับคดีแพ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่หน่วยงานของรัฐ เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา กฎหมายบัญญัติให้พนักงานอัยการในฐานะทนายความแผ่นดินและสำนักงานอัยการสูงสุด มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับคดีแพ่งแทนรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 23 (4) 


กล่าวคือ เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวเป็นฝ่ายชนะคดีหรือมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ศาลจะออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาปฏิบัติตามคำพิพากษา หากไม่ปฏิบัติตามภายในเวลาที่ศาลกำหนด

พนักงานอัยการซึ่งว่าต่างหรือแก้ต่างคดีให้แก่หน่วยงานของรัฐ จะขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เพื่อนำออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดนั้นชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป


เมื่อศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว พนักงานอัยการในฐานะทนายความของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะแจ้งให้หน่วยงานตัวความทราบถึงการที่ศาลได้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว และสำนักงานคดีก็จะส่งสำเนาหมายบังคับคดีพร้อมเอกสารต่างๆ ที่จำเป็นแก่การบังคับคดีไปยังสำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการบังคับคดีตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับคดี พ.ศ. 2555 ข้อ 10 ต่อไป ทั้งนี้ต้องร้องขอให้มีการบังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง 


ก่อนหน้านี้นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา ว่า เราไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ แต่สาเหตุที่ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการบังคับคดี และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้นั้น เนื่องจากทางอัยการฯอยู่ระหว่างยื่นเรื่องต่อศาลฯเพื่อขอให้ออกหมายบังคับคดี ซึ่งกรมฯได้ประสานงานกับอัยการเป็นระยะๆ มาตั้งแต่วันที่ได้รับคำพิพากษาศาลฯอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนธ.ค.2562 แล้ว (‘คต.’ ประสานอัยการฯขอศาลออก ‘หมายบังคับคดี’ ก่อนลุยสืบทรัพย์ทุจริตข้าวจีทูจี )

กีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

นอกจากนี้ กรมฯยังได้เรียกประชุม 5 หน่วยงานผู้เสียหายมาประชุมกันแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่เดือน ต.ค.2562 โดยเบื้องต้นได้มีการหารือถึงการแบ่งหน้าที่ว่า เมื่อมีหมายบังคับคดีออกมาแล้ว แต่ละหน่วยงานจะดำเนินการอย่างไรบ้าง เช่น จะแยกกันสืบทรัพย์หรือสืบทรัพย์ร่วมกัน และมีรายละเอียดข้อมูลบางอย่างที่จะต้องไปขอกับทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้การดำเนินการสืบทรัพย์ไม่มีปัญหาในภายหลัง

“ตั้งแต่เดือนธ.ค.ปีที่แล้ว กรมฯได้ประสานกับทางอัยการฯเป็นระยะๆ ในการยื่นขอให้ศาลฯออกหมายบังคับคดี แต่เนื่องจากคดีนี้มีรายละเอียดมาก จึงต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม เมื่อกรมฯได้รับหมายบังคับคดีมาแล้ว จะเรียกประชุม 5 หน่วยงานอย่างเป็นทางการ กำหนดแนวทางในการสืบทรัพย์จากจำเลย และดูว่าแต่ละหน่วยงานเข้าถึงข้อมูลทรัพย์สินอะไรได้บ้าง เพราะการเข้าถึงข้อมูลของแต่ละหน่วยงานไม่เหมือนกัน” นายกีรติกล่าว

ทั้งนี้ ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 ให้จําเลย ได้แก่ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร นักธุรกิจค้าข้าวคนสำคัญ และนายนิมล หรือโจ รักดี ร่วมกันชําระเงิน 20,057,723,761.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา ร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,717,165,241.54 บาท นับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2554 ของต้นเงิน 1,337,547,891.79 บาท นับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2555 ของต้นเงิน 5,694,745,496.73 บาท นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555 และของต้นเงิน 162,665,543.00 บาท นับแต่วันที่ 10 กันยายน 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จ

บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หรือบริษัท สิราลัย จำกัด และ น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร บุตรสาวเสี่ยเปี๋ยง ร่วมกันชําระเงิน 2,135,632,483.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จ โดยดอกเบี้ยนับถึงวันยื่นคําร้องต้องไม่เกินจํานวนตามที่ผู้ร้องทั้ง 5 ขอ กับให้จําเลยที่ 22 และที่ 23 ร่วมกันชําระเงิน 27,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 เมษายน 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จ จําเลยที่ 23 และที่ 24 ร่วมกันชําระเงิน 47,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 เมษายน 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ 

ให้บริษัท เค.เอ็ม.ซี. อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด นายปกรณ์ ลีศิริกุล กรรมการบริษัท ร่วมกันชําระเงิน 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อ ปี นับแต่วันที่ 21 เมษายน 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จ ให้บริษัท เจียเม้ง จำกัด จำเลยที่ 27 และนางประพิศ มานะธัญญา กรรมการบริษัท จำเลยที่ 28ร่วมกัน ชําระเงิน 55,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 เมษายน 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จ