เอไอเอส-ทรู ชิงคลื่น 2600

14 ก.พ. 2563 | 07:08 น.

นักวิชาการชี้แข่งขันรุนแรง

   วันที่ 16 กุมภาพันธุ์ 2563 เป็นวันที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.จัดให้มีการประมูลระบบ 5G 

     นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยกับ

”ฐานเศรษฐกิจ” ว่าภายหลังสำนักงาน กสทช.ออกมาเปิดเผยข้อมูลเรื่องย่านความถี่ที่แต่ละรายแสดงความจำนงเข้าร่วมการประมูลคลื่นที่ กสทช. กำหนดวันเคาะราคาในวันที่ 16 ก.พ. นี้ ซึ่งมีคลื่นที่นำออกประมูลทั้ง 700 1800 2600 MHz และ 26 GHz นั้น เป็นไปตามความคาดหมายที่คลื่นย่าน 2600 จะเป็นคลื่นที่ได้รับความสนใจมากที่สุด เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าเป้าหมายของการคว้าคลื่นชุดนี้ก็เพื่อนำไปให้บริการ 5G ซึ่งจำเป็นต้องใช้ Bandwidth ที่มากพอ และคลื่น 2600 ในการประมูลครั้งนี้ มีให้ประมูลถึง 190 MHz

เอไอเอส-ทรู ชิงคลื่น 2600

   ส่วนคลื่นอื่นๆ ทั้ง 700 MHz และ 26 GHz ซึ่งสามารถจะนำไปเป็นคลื่นในส่วน Low Band และ High Band ในการทำ 5G ได้เช่นกัน แต่หากพิจารณาจะพบว่าคลื่น 700 ต้องรอเรื่องการย้ายความถี่โทรทัศน์และกว่าจะใช้ได้อาจจะปลายปี และคลื่น 26 GHz อาจจะเหมาะกับการนำไปสร้างเครือข่าย 5G ในย่านเฉพาะพื้นที่ครอบคลุมจำกัด 

    “การที่ทั้ง เอไอเอส,ทรูและ แคท สนใจทั้ง 700 ,2600 MHz และ 26 GHz จึงชัดเจนว่า ต้องการมีชุดคลื่นเพื่อนำไปสร้างบริการ 5G ทั้ง 3 ราย แต่ในรายละเอียดว่ารายใดต้องการคลื่นย่านไหนไว้ในมือมากน้อยแค่ไหนอาจจะต่างกันไปขึ้นกับยุทธศาสตร์ที่จะนำคลื่นไปใช้และคลื่นที่มีอยู่ในมือจากการประมูลที่ผ่านมา”

   ทั้งนี้ ทรู และ เอไอเอส น่าจะโฟกัสที่คลื่น 2600 และคงต้องการคลื่นชุดนี้ให้มากพอสำหรับการสร้าง 5G ที่มีคุณภาพ แต่อาจไม่ได้สนใจคลื่นย่าน 700 มากนักเพราะมีแล้วจากการประมูลครั้งก่อนๆ รวมถึงการมีคลื่น 900 1800 2100 MHz  ในมือแล้ว 

    ในขณะที่ แคท อาจสนใจคลื่น 700 MHzเพื่อนำมาต่อยอดบริการของตนจากการมีอุปกรณ์และโครงข่ายในย่าน 850  MHz ที่ใกล้เคียงกันและเพื่อให้มีคลื่นสำหรับอนาคต

 

   สำหรับ ดีแทค ที่ฉีกออกไปประมูล 26 GHz เพียงอย่างเดียวก่อนก็อาจจะเนื่องมาจากความประสงค์จะรอคลื่น 3500 MHz ที่อาจจะมีการประมูลในอนาคตมาทำ 5G มากกว่า ดังนั้นในครั้งนี้จึงมองว่าประมูลเพียง 26 GHz ในส่วน High Band ก่อน อีกทั้งราคาตั้งต้นของคลื่นย่านนี้ก็ไม่สูงเมื่อเทียบกับย่านอื่น เช่นเดียวกับ ทีโอที ที่เข้าร่วมประมูลย่าน 26 GHz เช่นกัน ซึ่งถือเป็นการแยกประมูลและแยกถือคลื่น หากมีการควบรวมกับ แคท  ในอนาคตก็จะไม่ซ้ำซ้อนกันและไม่มีประโยชน์ที่รัฐวิสาหกิจทั้งสองจะมาเคาะราคาแข่งกันเองในชุดคลื่นเดียวกันให้ราคาต้นทุกสูงเกินความจำเป็นในเวลานี้

 

    ส่วนย่าน 1800 MHz ที่ไม่มีรายใดสนใจเลยก็เป็นไปตามความคาดหมายที่ราคาตั้งต้นที่ผูกโยงจากการประมูลครั้งก่อนๆ ทำให้ไม่มีความน่าสนใจพอ ทั้งๆ ที่ชุดคลืนนี้ก็ถือว่ามีศักยภาพ ในอนาคต กสทช. อาจต้องทบทวนราคาใหม่เพื่อให้คลื่นถูกนำออกไปใช้ให้เกิดประโยชน์