พิษอู่ฮั่นลามไกด์-บัสเช่า-สปา วอนรัฐอุ้มเที่ยวไทย

14 ก.พ. 2563 | 06:15 น.

ธุรกิจต่อเนื่องท่องเที่ยวโดนพิษไวรัสโคโรนาเป็นลูกระนาด ไกด์ภาษาจีนตกงานตามทันทีที่นักท่องเที่ยวจีนหาย ร้องรัฐเปิดอบรมมีเบี้ยเลี้ยงรอฟ้าเปิด บัสเช่าขอรัฐไฟเขียวองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ้างทัวร์เที่ยวไทย

นายวิโรจน์ สิตประเสริฐนันท์ นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า มัคคุเทศก์ไทยจดทะเบียนทั่วประเทศในทุกภาษา มีทั้งหมดร่วม 80,000 คน แต่ประกอบอาชีพอยู่จริงเวลานี้มี 20,000 คนเศษ ในจำนวนนี้เป็นมัคคุเทศก์ภาษาจีน 4,000-5,000 คนทั่วประเทศ ตอนนี้ไม่มีงานทำ เพราะบริษัทนำเที่ยวตลาดจีนกว่า 80% ปิดให้บริการ หลังรัฐบาลจีนสั่งห้ามจัดกรุ๊ปทัวร์ไปเที่ยวต่างประเทศ

ส่วนมัคคุเทศก์ภาษาอื่นก็เริ่มได้รับผลกระทบบ้างแล้ว เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ ก็เริ่มยกเลิกแผนท่องเที่ยว เลื่อนการเดินทางออกไปก่อน จากความกังวลเรื่องไวรัสโคโรนา ที่เพ่งเล็งว่าไทยเป็นพื้นที่เสี่ยงในการติดเชื้อ ซึ่งจะเริ่มเห็นผลชัดขึ้นเรื่อยๆ กลางเดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป แต่ยังไม่รุนแรงมากเหมือนมัคคุเทศก์ภาษาจีน ที่ว่างงานทันที 100%

“แนวโน้มไกด์ภาษาจีนจะตกงานยาวไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ เนื่องจากไกด์ภาษาจีน ส่วนมากไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ จึงไม่สามารถไปรับนักท่องเที่ยวภาษาอื่นได้ ต้องรอให้ตลาดจีนกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หลังปัญหาไวรัสโคโรนาคลี่คลาย จึงจะเริ่มกลับมาประกอบอาชีพได้ตามเดิม ส่วนไกด์เถื่อนที่เป็นคนจีนตอนนี้หายไปเลย เพราะไม่สามารถหากินได้เหมือนเดิม”

นายกสมาคมมัคคุเทศก์ฯ ชี้ว่า เมื่อไกด์ตกงานทำให้ขาดรายได้ การเงินฝืดเคือง ที่พอมีเงินเก็บก็ต้องเจียดมาใช้ประคองตัวไปก่อน บางคนก็กลับไปทำไร่ทำนารอเวลา ที่เป็นปัญหาหนักคือรายที่มีหนี้ส่วนบุคคล ส่วนใหญ่คือหนี้บัตรเครดิต ซึ่งสมาคมฯอยากร้องขอ ให้สถาบันการเงินเจ้าของบัตรเครดิตต่างๆ ช่วยคิดดอกเบี้ยค่าปรับในอัตราเงินกู้ทั่วไป แทนอัตราดอกเบี้ยค่าปรับบัตรเดรดิตที่ใช้อยู่ เพื่อลดผลกระทบของมัคคุเทศก์ในช่วงนี้

รวมทั้งขอเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการช่วยเหลือมัคคุเทศก์ ที่ได้รับผลกระทบไวรัสโคโรนาเป็นกรณีเฉพาะโดยขอให้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการ สนับสนุนโครงการเปิดอบรมมัคคุเทศก์ โดยจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าพาหนะให้ เหมือนที่เคยทำในโครงการต้นกล้าอาชีพ ซึ่งไม่เพียงเป็นการช่วยเหลือ แต่ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้นในอนาคต เพื่อรองรับการท่องเที่ยวฟื้นตัว

เนื่องจากมัคคุเทศก์ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการเยียวยาของรัฐ ที่ออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจท่องเที่ยวก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่า (ซอฟต์โลน) เพราะไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณาของสถาบันการเงิน รวมทั้งเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม จึงได้รับผลกระทบถ้วนหน้า

พิษอู่ฮั่นลามไกด์-บัสเช่า-สปา  วอนรัฐอุ้มเที่ยวไทย

 

นายชูชาติ ทองคำ ประธานที่ปรึกษาสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย กล่าวว่า เวลานี้รถบัสทัวร์ใหญ่กว่า 5,000 คันจอดนิ่งสนิท เนื่องจากไม่สามารถรับกรุ๊ปทัวร์จีน รัฐบาลควรสนับ สนุนคนไทยเที่ยวในประเทศ และปลดล็อกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้งบเพื่อเดินทางดูงานในประเทศโดยผ่านบริษัทนำเที่ยวได้

เช่นกัน นายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย กล่าวว่า ไวรัสโคโรนายังส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาติต่างๆ ทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา หยุดการเดินทางไปด้วย ขณะนี้ธุรกิจสปาและร้านนวด ที่มีมาตรฐานทั่วประเทศกว่า 7,000 แห่ง รายได้ลดไปแล้วกว่า 80 % และมีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่อง ส่วนข่าวนักท่องเที่ยวสิงคโปร์ มาติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ร้านนวดเชียงใหม่ สอบถามสมาพันธ์สปาเชียงใหม่แล้ว ยืนยันเป็นข่าวลวง (เฟกนิวส์) ที่เชียงใหม่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องทั้งระบบ ได้ประชุมด่วนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เพื่อประมวลผลกระทบ และมาตรการเยียวยาที่จะเสนอต่อภาครัฐ โดยยอดจองห้องพักโรงแรมเชียงใหม่เหลือแค่ 20%

นายพรชัย จิตรนวเสถียร อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชียงใหม่ กล่าวว่า เชียงใหม่ไม่ได้เพิ่งมีปัญหาจากทัวร์จีนลดครั้งนี้ แต่โดนกระทบเป็นระยะต่อเนื่อง นับแต่ปัญหาหมอกควันต้นปี 2562 ต่อด้วยสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ดันบาทแข็งค่า เศรษฐกิจโลกชะลอ ปลายปีกฎหมายงบประมาณล่าช้า การจัดประชุมสัมมนาภาครัฐทำไม่ได้ต่อเนื่อง มามีปัญหาภัยแล้งคนไม่มีกำลังซื้อ ขึ้นต้นปีใหม่ก็มีเหตุสหรัฐฯส่งโดรนสังหารผู้นำทหารอิหร่าน มาต่อด้วยไวรัสโคโรนาระบาดที่จีน บวกกับปัญหาหมอกควันที่มาเร็วทบซํ้าเข้าไปอีก

“เงินเก็บที่ควรจะเหลือไว้จ่ายในช่วงโลว์ซีซันของปีนี้ก็ไม่มี กลายเป็นติดลบต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นตอนนี้ถือว่าอยู่ในช่วงวิกฤติ ถ้าใช้แต่มาตรการปกติ คาดการณ์ได้เลยจากนี้จะเป็นวิกฤติการเงิน วิกฤติเศรษฐกิจ NPLจะล้นระบบ คนตกงานจะมาก ธุรกิจจะต้องปิดตัว อาชญากรรมจะสูงขึ้น อัตราการฆ่าตัวตายจะเยอะมากอย่างเป็นประวัติศาสตร์ ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดี ต้องเป็นมาตรการในภาวะวิกฤติและถึงตัวคนเดือดร้อนจริง”

หน้า 11 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,547 วันที่ 9 - 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563