"ทริส"คาดอสังหาฯชะลอตัวยาวปีครึ่ง"โควิด-19"ฉุดกำลังซื้อ

14 ก.พ. 2563 | 01:21 น.

ทริสฯมองแนวโน้มอุตสาหกรรมอสังหา ยังชะลอตัวต่ออีก 12-18 เดือน  ผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดส่งผลต่ออุปสงค์ผู้ซื้อทั้งในและตปท.เผยยอดขายบ้านสุทธิปี62 ลดลง 33% เฉพาะคอนโดหด 39% เหตุลูกค้ายกเลิกการซื้อและแบงก์ปฏิเสธปล่อยกู้

นายศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด พร้อมด้วยนักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัทฯได้ร่วมกันเสนอมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมหลัก ๆ ของประเทศไทยในปี 2563 ในงานสัมมนาที่ทริสเรตติ้ง จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ณ โรงแรมคราวน์พลาซ่า

ทริสเรทติ้งคาดว่าอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์จะยังคงเผชิญกับความท้าทายอีกในปี 2563 การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าและการชะลอตัวของของเศรษฐกิจไทย ยังคงส่งผลกดดันต่ออุตสาหกรรมต่อไป ตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวที่ยาวนานเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ในปีที่ผ่านมาทริสเรทติ้งคาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะได้รับผลกระทบในระยะสั้นจากการบังคับใช้มาตรการใหม่เกี่ยวกับอัตราส่วนเงินกู้ต่อมูลค่าที่อยู่อาศัย (Loan to Value – LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือนเมษายน 2562 จากผลประกอบการของบริษัทที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิต จำนวน 22 รายพบว่าธุรกิจน่าจะยังคงชะลอตัวต่อไปในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะลดลงจากผลกระทบของการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าน่าจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ของผู้ซื้อบ้านทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

ข้อมูลจากผู้ประกอบการ 22 รายที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งแสดงให้เห็นว่ามูลค่ายอดขายบ้านสุทธิ (สุทธิจากยอดยกเลิกโดยผู้ซื้อและยอดปฏิเสธสินเชื่อของธนาคาร) ในปี 2562 ลดลงถึงประมาณ 33% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเป็นการลดลงของยอดขายคอนโดมิเนียมถึง 39% และยอดขายที่อยู่อาศัยแนวราบ 27%

สาเหตุหลักของการยกเลิกการซื้อดังกล่าวมาจากอุปสงค์ที่ลดลงของนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ นอกจากนี้ ยอดยกเลิกโดยผู้ซื้อและยอดปฏิเสธสินเชื่อของธนาคารทั้งในส่วนของคอนโดมิเนียมและที่อยู่อาศัยแนวราบก็ยังเพิ่มขึ้นอีกด้วยเช่นกัน ในส่วนของมูลค่ายอดโอนที่อยู่อาศัยในปี 2562 ก็ปรับตัวลดลงประมาณ 10% โดยยอดโอนที่อยู่อาศัยแนวราบลดลง 7% ในขณะที่ยอดโอนคอนโดมิเนียมลดลงถึง 17% ยอดขายสุทธิที่ลดลงค่อนข้างมากส่งผลให้มูลค่ายอดขายคอนโดมิเนียมที่รอรับรู้เป็นรายได้ (Backlog) ณ สิ้นปี 2562 ลดลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งอาจส่งผลให้การรับรู้รายได้ในอนาคตของผู้ประกอบการลดต่ำลงด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เน้นการขายคอนโดมิเนียม

อย่างไรก็ดี แม้ว่ายอดขายสุทธิของผู้ประกอบการจะลดลงอย่างมาก แต่มูลค่าคอนโดมิเนียมที่เหลือขายทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและที่อยู่ระหว่างก่อสร้างก็ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 10% ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่หันมาเน้นการขายสินค้าคงเหลือและชะลอการเปิดโครงการใหม่ โดยมูลค่าโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในปี 2562 ลดลงเกือบ 40% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี มูลค่าสินค้าคงเหลือที่เพิ่มมากขึ้นก็จะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนโดยเฉลี่ยของผู้ประกอบการทั้ง 22 รายจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 55%-57% ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ในขณะที่อัตราส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินโดยเฉลี่ยอาจลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 8%-10% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 10%-12%