เตรียมเข้าร่วมJTC ไทย-แอฟริกาใต้ ครั้งแรกในรอบ 5 ปี

13 ก.พ. 2563 | 08:48 น.

พาณิชย์ เตรียมเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือเจทีซี ไทย – แอฟริกาใต้ ครั้งที่ 5 หลังว่างเว้นกว่า 5 ปี หารือแนวทางขยายการค้าการลงทุนสินค้าเกษตร และชิ้นส่วนยานยนต์ พร้อมผลักดันแก้ไขอุปสรรคทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในแอฟริกาใต้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จะเดินทางเยือนแอฟริกาใต้เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย – แอฟริกาใต้ ครั้งที่ 5 ซึ่งกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมแห่งแอฟริกาใต้จะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ณ กรุงพริทอเรีย ประเทศแอฟริกาใต้ หลังจากว่างเว้นการประชุมมานานกว่า 5 ปี โดยจะมีการหารือในประเด็นสำคัญ ได้แก่ แนวทางขยายการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และชิ้นส่วนยานยนต์ ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ รวมทั้งจะผลักดันการแก้ไขอุปสรรคการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในแอฟริกาใต้ เช่น การออกใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานไทย โดยเฉพาะในธุรกิจร้านอาหารและร้านสปา เพื่อขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น

 เตรียมเข้าร่วมJTC ไทย-แอฟริกาใต้ ครั้งแรกในรอบ 5 ปี

ทั้งนี้ แอฟริกาใต้ เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคแอฟริกา เป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ อีกทั้งยังเป็นสมาชิกของเขตการค้าเสรีทวีปแอฟริกาหรือ The African Continental Free Trade Area (ACFTA) ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ทำให้แอฟริกาใต้เป็นตลาดศักยภาพและประตูการค้าของไทยสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแอฟริกากว่า 54 ประเทศ ดังนั้น การประชุมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองประเทศจะกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

โดย แอฟริกาใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ในภูมิภาคแอฟริกา ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของแอฟริกาใต้ในอาเซียน โดยในปี 2562 การค้าระหว่างไทยกับแอฟริกาใต้ มีมูลค่า 3,263 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกไปแอฟริกาใต้ 2,627ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องยนต์สันดาป ข้าว ยางรถยนต์ ยางขอบกระจกและประตู อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น และไทยนำเข้าจากแอฟริกาใต้ 636 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น อะลูมิเนียมและเศษอะลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ ทองคำ เพชร แพลตทินัม เยื่อกระดาษ เหล็กและเหล็กกล้า เป็นต้น