ศาลให้ประกัน“5แนวร่วมพธม.”อุทธรณ์สู้คดีบุกNBT

12 ก.พ. 2563 | 12:36 น.

ศาลอาญาให้ประกันแล้ว “สมเกียรติ-อัญชะลี-กลุ่มพธม.” รวม 5 คน เพื่ออุทธรณ์สู้คดีบุก NBT ตีราคาประกันคนละ 2-3 แสน หลังศาลมีคำสั่งจำคุก 1-2 โดยรอลงอาญา

 

วันนี้(12 ก.พ.63) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว ญาติและทนายความของจำเลยทั้ง 5 คน ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมหลักทรัพย์เพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ในคดีชุมนุมบุกเข้าไปในสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ เอ็นบีที (NBT)


โดยในส่วนของ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 70 ปี อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) จำเลยที่ 1 ศาลพิพากษาจำคุก เป็นเวลา 2 ปี ได้ยื่นโฉนดที่ดิน จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 4 ไร่ ราคาประเมิน 1.4 ล้านบาทเศษ

ส่วน น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก อายุ 57 ปี จำเลยที่ 2, นายภูวดล ทรงประเสริฐ อายุ 70 ปี นักวิชาการ จำเลยที่ 3, นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที อายุ 53 ปีเศษ ผู้ดำเนินรายการสื่อเครือนิวส์วัน จำเลยที่ 4, นายชิติพัทธ์ หรือ สนชัย ลิ้มทองกุล จำเลยที่ 5 กลุ่มแนวร่วมพธม. ที่ศาลพิพากษาจำคุกคนละ 1 ปี ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด คนละ 200,000 บาท


ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้ง 5 ระหว่างอุทธรณ์คดี โดยตีราคาประกันในส่วนของ นายสมเกียรติ วงเงิน 300,000 บาท


ส่วนจำเลยที่ 2-5 ตีราคาประกันคนละ 200,000 บาท ซึ่งคดีจะครบกำหนดการยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 12 มีนาคมนี้
 

 

คดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 30 มี.ค.61 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่22-25 ส.ค.51จำเลยทั้งห้ากับพวก 85 คน ที่ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษแล้ว ร่วมกันกระทำความผิดเป็นซ่องโจร มั่วสุมก่อการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยร่วมกันเดินขบวนในถนนสาธารณะ จากบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ และจากที่อื่นๆ โดยมีอาวุธปืน มีด ขวาน ไม้กอล์ฟ ไม้ท่อน หนังสติ๊ก ลูกเหล็ก แล้วร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณและอาคารสำนักงานสถานี NBT ทุบทำลายประตูหน้าต่าง ตัดสายไฟฟ้าตู้ควบคุมระบบไฟฟ้า ระบบโทรศัพท์ ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบกล้องวงจรปิด ทำลายระบบส่งสัญญาณการออกอากาศวิทยุโทรทัศน์ และร่วมกันข่มขืนใจพนักงานไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ออกอากาศและกระจายเสียง และสั่งให้ออกไปจากอาคารสถานี โดยจำเลยทั้งห้า เป็นหัวหน้าและเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด ซึ่งจำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ


ขณะที่วันนี้ จำเลยทั้งห้าซึ่งได้รับประกันตัวทั้งหมด เดินทางมาศาลพร้อมฟังคำพิพากษา โดย นายภูวดล นั่งรถเข็นมาศาล 


กระทั่งถึงเวลานัด ศาลพิเคราะห์แล้ว พยานหลักฐานตามที่คู่ความทั้ง 2 ฝ่าย นำสืบแล้ว เห็นว่า โจทก์มีเจ้าพนักงานตำรวจที่ไปดูแลรักษาความปลอดภัย, ผอ.สถานี NBTและช่างภาพสถานี NBTเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุ กลุ่มพธม.ชุมนุมกันที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อขับไล่รัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ส.ค.51 แกนนำ พธม. ประกาศว่าวันที่ 26 ส.ค.51 จะบุกสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งสถานี NBTเมื่อวันที่ 26 ส.ค.51 ในเวลา 05.00 น. มีกลุ่ม “นักรบศรีวิชัย” ซึ่งเป็นการ์ดของกลุ่ม พธม. บุกรุกเข้าไปในอาคารสถานีNBT


ต่อมาตำรวจสามารถจับกุมได้ 85 คน หลังจากนั้นมีกลุ่มผู้ชุมนุมทยอยเดินทางมาที่หน้าประตูทางเข้า-ออกด้านหน้าสถานี จนเวลา 06.00 น. ผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่ พร้อมรถยนต์บรรทุกติดเครื่องขยายเสียงเป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่มาถึงสถานี NBTหลายคัน โดยผู้ชุมนุมบนรถผลัดเปลี่ยนกันพูดโจมตีรัฐบาลและสถานี NBTว่าเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล ต้องการยึด NBT ให้จอดำและเชื่อมต่อสัญญาณออกอากาศเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของกลุ่ม พธม. รวมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับไปก่อนหน้านี้


โดยตำรวจ พยานโจทก์ ก็ยืนยันด้วยว่า ขณะเกิดเหตุอยู่ในลักษณะประจันหน้ากันที่ประตูรั้ว เห็นจำเลยทั้งห้า อยู่บนรถ ซึ่งมีพยานจำเสียงของ น.ส.อัญชะลี จำเลยที่ 2 ได้ ซึ่งโจทก์มีภาพถ่ายเป็นพยานหลักฐานด้วย และจากการเบิกความของพยานยังฟังได้ว่า กลุ่ม พธม. พังประตูรั้วเหล็ก ฝ่าแนวกั้นของตำรวจบุกรุกเข้าไปในบริเวณพื้นที่และอาคารสถานี NBT ซึ่ง นายชิติพัทธ์ จำเลยที่ 5ประกาศต่อหน้าตำรวจว่าผู้ชุมนุมเป็นกองทัพประชาชน มีผู้สั่งการให้มายึดNBTขอให้ตำรวจออกจากอาคารสถานีไป จากนั้นกลุ่ม พธม. ได้ยึดพื้นที่สถานีและอาคารดังกล่าว กระทั่งเวลา 17.00 น.จึงออกจากพื้นที่ดังกล่าว
 

 

นอกจากพยานในที่เกิดเหตุแล้ว ตำรวจผู้ติดตามความเคลื่อนไหวการชุมนุมทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี (ASTV) และผู้ถอดเทปคำปราศรัยบนเวทีชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ยังเบิกความข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบุกยึดสถานี NBTอย่างสอดคล้องกัน พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกที่บุกรุกเข้าไปในอาคารสถานี NBTเมื่อเวลา 08.00 น.กับกลุ่มนักรบศรีวิชัย ที่บุกรุกเข้าไปในอาคารเมื่อเวลา 05.00 น.ในวันที่ 26 ส.ค.61 โดยมีเจตจำนงเดียวกัน และกระทำการต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน เพื่อปฏิบัติภารกิจบุกยึดสถานี NBT ให้บรรลุเป้าหมายที่แกนนำร่วมกันมีมติ เป็นการร่วมกันกระทำความผิด


ข้อต่อสู้ของจำเลยที่1, 2, 3, 4 ซึ่งอ้างว่ามีผู้ชุมนุมดาวกระจายไปที่สถานี NBTแล้วถูกจับกุมไป ก็ยังมีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งอยู่ที่หน้าสถานี NBT เมื่อจำเลยทราบข่าวจึงเคลื่อนขบวนติดตามไปภายหลังเพื่อจะนำมวลชนที่อยู่หน้าสถานีกลับมาที่สะพานมัฆวานรังสรรค์โดยไม่ได้เข้าไปในสถานี และจำเลยที่ 5 เป็นเพียงผู้ชุมนุมธรรมดาที่เดินทางไปร่วมชุมนุม ไม่ได้พูดประกาศต่อเจ้าพนักงานตำรวจนั้น ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ 


การกระทำของจำเลยที่ 1-5 จึงมีความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมก่อการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง , ร่วมกันบุกรุก , ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ , ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น โดยฟังได้ว่า นายสมเกียรติ เป็นแกนนำของกลุ่ม พธม. ร่วมสมคบคิดบุกยึดสถานี NBT ขึ้นเวทีชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ร่วมประกาศภารกิจและเดินทางไปในลักษณะกำกับดูแล เป็นหัวหน้าเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด ส่วน น.ส.อัญชะลี, นายภูวดล, นายยทธิยง, นายชิติพัทธ์ อดีตแนวร่วม พธม. จำเลย ที่ 2-5 พยานหลักฐานยังไม่ชัดว่าเป็นหัวหน้า หรือมีหน้าที่สั่งการในการบุกยึด


ส่วนความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร ม.210 นั้น โจทก์ยังไม่มีพยานหลักฐานว่า จำเลยทั้งห้ากับพวก และกลุ่มนักรบศรีวิชัย สมคบกันร่วมประชุมวางแผนกัน จึงลงโทษความผิดฐานซ่องโจรไม่ได้

ศาลจึงพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้า เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด ฐานร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน ม.364 , 365 ให้จำคุก นายสมเกียรติ เป็นเวลา 2 ปี และให้จำคุก น.ส.อัญชะลี นายภูวดล นายยุทธิยง นายชิติพัทธ์ คนละ 1 ปี โดยไม่รอการลงโทษ