กรมเจรจาฯ กระทุ้งเอกชน เร่งศึกษาภาษีใหม่ของอังกฤษ

12 ก.พ. 2563 | 11:13 น.

กรมเจรจาการค้าฯ จี้เอกชนเร่งศึกษาภาษีนำเข้าใหม่ของอังกฤษ หลังเบร็กซิท ป้องผลประโยชน์ทางการค้า 1.9 แสนล้าน เผยอังกฤษเปิดรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ต่อแผนการกำหนดอัตราภาษีใหม่ ผู้ส่งออกไทยให้ข้อเสนอแนะได้

 

 

จากที่สหราชอาณาจักร หรืออังกฤษได้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป(เบร็กซิท)อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้อัพเดตสถานการณ์หลังเบร็กซิทว่าอังกฤษได้เผยแผนยกเลิกเก็บภาษีศุลกากร และปรับลดอัตราภาษีศุลกากรที่ยูเคจะเก็บจากประเทศที่ 3 ที่ไม่มีเอฟทีเอและไม่ได้รับสิทธิจีเอสพีกับอังกฤษ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสนับสนุนการผลิตสินค้าในอังกฤษ ที่จะเริ่มใช้กฎระเบียบของอังกฤษตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการไทยศึกษาอัตราภาษีใหม่ของอังกฤษ และแสดงความเห็นต่อแผนการกำหนดอัตราภาษีใหม่

กรมเจรจาฯ กระทุ้งเอกชน เร่งศึกษาภาษีใหม่ของอังกฤษ

                                                   อรมน  ทรัพย์ทวีธรรม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ(จร.) เผยว่า จากที่อังกฤษได้ออกจากการเป็นสมาชิกของอียูแล้ว และนับจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2563 อังกฤษจะยังคงอยู่ภายใต้กฎระเบียบของอียู และจะเริ่มใช้กฎระเบียบของอังกฤษเองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 นั้น

 

 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 กระทรวงการค้าระหว่างประเทศของอังกฤษได้เผยแพร่เอกสาร เรื่องการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรที่จะใช้กับสินค้านำเข้าจากประเทศที่ 3 (ประเทศที่ไม่มีเอฟทีเอกับอังกฤษและประเทศที่ไม่ได้รับสิทธิจีเอสพีจากอังกฤษ) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 โดยจะปรับอัตราภาษีศุลกากรของอังกฤษให้มีความเหมาะสมและอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการมากขึ้น

 

ทั้งนี้อังกฤษมีแผนจะยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตของอังกฤษ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ผลิตสินค้าในอังกฤษ และสนับสนุนให้มีการผลิตสินค้าภายในประเทศ และจะยกเลิกภาษีศุลกากรในสินค้าที่ไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้อย่างจำกัดภายในประเทศของอังกฤษ รวมทั้งจะยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ปัจจุบันมีอัตราภาษีที่ 2.5% หรือต่ำกว่า เพื่อลดภาระด้านพิธีการศุลกากร

กรมเจรจาฯ กระทุ้งเอกชน เร่งศึกษาภาษีใหม่ของอังกฤษ

 

ขณะที่สินค้าที่ปัจจุบันถูกเก็บภาษีในอัตราที่เกินกว่าร้อยละ 2.5 จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม เพื่อลดภาษีลงในอัตราที่ต่างกัน ซึ่งอัตราภาษีที่ปรับใหม่นี้จะเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ทั้งนี้อังกฤษเปิดรับความเห็นต่อแผนการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรดังกล่าว ภายในวันที่ 5 มีนาคม 2563 เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำอัตราภาษีที่เหมาะสมต่อไป โดยผู้สนใจสามารถให้ความเห็นได้ทางเว็บไซต์ www.gov.uk/government/consultations/the-uk-global-tariff จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการไทย ผู้ส่งออกของไทย ศึกษาข้อมูลอัตราภาษีใหม่ของอังกฤษ และแจ้งความเห็นต่อแผนการกำหนดอัตราภาษีใหม่ผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว

กรมเจรจาฯ กระทุ้งเอกชน เร่งศึกษาภาษีใหม่ของอังกฤษ

นางอรมน กล่าวอีกว่า ในส่วนของการยกเลิกและปรับลดอัตราภาษีที่อังกฤษจะเก็บกับประเทศที่3 หลังวันที่ 1 มกราคม 2564 นั้น สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1.สินค้าที่มีอัตราภาษีเดิม 2.5% หรือต่ำกว่า อังกฤษจะยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าในกลุ่มนี้ เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ และหน่วยเก็บเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ 2.สินค้าที่มีอัตราภาษีเดิมไม่เกิน 20% อังกฤษจะแบ่งสินค้าเป็นระดับ (band) แต่ละระดับมีอัตราภาษีห่างกัน 2.5% ประกอบด้วย อัตราภาษีที่ 17.5% 15% 12.5% 10% 7.5% 5% และ 2.5% ตามลำดับ ซึ่งสินค้าที่อยู่ในกลุ่มนี้จะลดภาษีไม่เกิน 2.5% อาทิ อัตราภาษี 18% จะลดลงเหลือ 17.5% และอัตราภาษี 12.3% จะลดลงเหลือ 10%  เป็นต้น สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังอังกฤษในกลุ่มนี้ เช่น ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของยานยนต์ และแว่นตา

 

3.สินค้าที่มีอัตราภาษีเดิมมากกว่า 20% แต่ไม่เกิน 50%  แบ่งสินค้าเป็นระดับ โดยแต่ละระดับมีอัตราภาษีห่างกัน 5% ประกอบด้วยอัตราภาษีที่ 45% 40% 35% 30% 25% และ 20% ตามลำดับ ซึ่งสินค้าที่อยู่ในกลุ่มนี้จะลดภาษีไม่เกิน 5% อาทิ อัตราภาษี 22% จะลดลงเหลือ 20% และอัตราภาษี 48% จะลดลงเหลือ 45% สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังยูเคในกลุ่มนี้ เช่น ปลาแปรรูป และยานยนต์น้ำหนักไม่เกิน 5 ตัน และ 4. สินค้าที่มีอัตราภาษีเดิม 50% หรือมากกว่า แบ่งสินค้าเป็นระดับ โดยแต่ละระดับมีอัตราภาษีห่างกัน 10% (อาทิ 60% 70% 80% และ 90%) เช่น อัตราภาษี 68% จะลดลงเหลือ 60% สินค้าในกลุ่มนี้ เช่น ยาสูบ

 

กรมเจรจาฯ กระทุ้งเอกชน เร่งศึกษาภาษีใหม่ของอังกฤษ

นางอรมน กล่าวเสริมว่า นอกจากการปรับลดอัตราภาษีศุลกากรข้างต้นแล้ว อังกฤษยังจะต้องเร่งเจรจาจัดสรรโควตาสินค้าเกษตรบางรายการกับสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ใหม่ด้วย เนื่องจากไม่สามารถใช้โควตาร่วมกับอียูได้อีกต่อไปภายหลังวันที่ 1 มกราคม 2564 โดยไทยมีสินค้าที่ต้องเจรจาจัดสรรโควตาใหม่กับยูเค 32 รายการ เช่น มันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวหัก ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก ปลากระป๋อง ซึ่งกรมฯ อยู่ระหว่างเจรจากับผู้แทนของอังกฤษและอียู โดยมีเป้าหมายที่จะรักษาผลประโยชน์ของไทยให้ได้รับปริมาณโควตารวมไม่น้อยกว่าที่ไทยเคยได้รับเมื่อตอนที่อังกฤษยังเป็นสมาชิกอียู

 

สำหรับการค้าไทยกับอังกฤษในปี 2562 มีมูลค่ารวม 6,260 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.95 แสนล้านบาท) ขยายตัวลดลงจากปีก่อน 11.04% โดยไทยส่งออกไปอังกฤษ 3,843 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.19 แสนล้านบาท)สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ไก่แปรรูป รถยนต์และอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ รถจักรยานยนต์ เครื่องจักรกล เป็นต้น และไทยนำเข้าจากอังกฤษ 2,417 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (7.59 หมื่นล้านบาท)สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เป็นต้น