ทช.เซ็นสัญญาสร้าง-ซ่อมถนนปลายมี.ค.

12 ก.พ. 2563 | 09:48 น.

ทช.กังวลงบปี 63 ล่าช้า อาจกระทบ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไม่เป็นไปตามแผน คาดเซ็น สัญญาโครงการเร็วสุด ปลายมี.ค.นี้

 

 

 

 

 

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2563 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ราว 40,000 กว่าล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงบด้านการซ่อมบำรุงทาง ราว 3,000 โครงการ ขณะนี้ได้ผ่านวาระ 2 และได้รับการประสานงานจากกรมบัญชีกลางให้เริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ ซึ่งบางโครงการอยู่ในกระบวนการอยู่ คาดว่าลงนามเซ็นสัญญาโครงการและเริ่มก่อสร้างโครงการต่างๆ ได้ในช่วงปลาย มีนาคม 2563

"กรณีร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ผ่านไปได้ด้วยดี สามารถประกาศผลกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ทันที หากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ยึดเยื้อออกไปถึง เดือน พ.ค.นี้ อาจกระทบต่อผลการประกวดราคาในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องเลื่อนออกไป โดยทช.จะทำจดหมายเกี่ยวกับการประกวดราคาให้แก่ผู้รับเหมา หากอีกฝ่ายตกลงสามารถเริ่มโครงการได้เลย แต่สิ่งที่น่ากังวลเป็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่อาจล่าช้า เนื่องจากในกระบวนการต้องของบประมาณจากสำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินการ หากล่าช้า อาจไม่เป็นไปตามแผน"

นายปฐม กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการพัฒนาผังเมือง จ.อุตรดิตถ์ วงเงิน 434 ล้านบาท คาดว่าจะทราบผลกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ในช่วงปลายเดือน มีนาคม 2563 หลังจากนั้นจะส่งเรื่องให้สำนักงบประมาณพิจารณาประมาณ1 เดือน สามารถลงนามในสัญญาได้ปลายเดือน เมษายน 2563

สำหรับงบประมาณปี 2564 อยู่ระหว่างการจัดเตรียมเพื่อหารือกับกระทรวงคมนาคม เพื่อตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ หากถึงช่วงเวลาที่สามารถอนุมัติโครงการต่างๆได้ ส่งผลให้ทช.ดำเนินการในโครงการต่างๆได้เร็วขึ้นและไม่ล่าช้า

นอกจากนี้ทช.เตรียมความพร้อมรองรับการปรับเพิ่มความเร็ว 110-120 ก.ม./ชม. โดยใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในการซ่อมและสร้างอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย เช่น เสาหลักนำทางและแบบริเออร์ แบบ single sloop barrier หุ้มด้วยยางพารา ซึ่งจะรองรับแรงกระแทก ได้ 120 ก.ม. ในขณะเดียวกัน ทช.ได้ทดสอบแรงกระแทกในลักษณะนี้ จำนวน 12 ครั้ง เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ได้ส่งผลสอบและวัสดุทดสอบไปประเทศเกาหลีใต้ คาดว่าจะทราบผลภายในเดือน ก.พ.นี้

อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ 2563 ทช.จะนำยางพารามาใช้ในโครงการก่อสร้างถนนใหม่และปรับปรุงถนนทางหลวงชนบทเดิม คาดว่าจะมีการใช้ยาง ราว 1 แสนตัน ซึ่งปัจจุบันมีสต๊อคยางราว 7 แสนตัน  ในขณะที่ราคาน้ำยางสดเฉลี่ย 38 บาท/ก.ก. จะสามารถรับซื้อน้ำยางจากเกษตรกรและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ราว 70% หากการทดสอบสำเร็จ  หลังจากนั้นจะประสานงานกับกรมบัญชีกลางเพื่อเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ทันที