แม่ทัพหญิง ช.การช่าง สานแนวคิดสร้างธุรกิจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม 

15 ก.พ. 2563 | 04:50 น.

จาก 5 ปี ของการเปลี่ยนแปลงและการส่งต่อครั้งใหญ่ ที่ ช.การช่าง บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของไทย ที่ ปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประกาศปรับโครงสร้างฝ่ายบริหารครั้งสำคัญ

ด้วยการดัน บุตรสาวคนโต “ดร.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์” ขึ้นนั่งตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่รับไม้ต่อการบริหารธุรกิจโดยภาพรวมทั้งหมด จากเดิมที่นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP บริษัทด้านพลังงานในเครือ ช.การช่าง

 

นับจากวันที่ขึ้นทำหน้าที่แม่ทัพใหญ่ของ ช.การช่าง “คุณหนิง” หรือ “ดร.สุภามาส” ก็เดินหน้าเต็มที่ โดยเธอได้พูดในงานแถลงข่าวปรับโครงสร้างองค์กรในครั้งนั้นว่า ไม่ได้หนักใจกับงานและภารกิจที่เพิ่มขึ้น เพราะบริษัทวางรากฐานสร้างระบบภายในตัวองค์กรมานาน และยังมีมืออาชีพร่วมทำงานอยู่จำนวนมาก ขณะที่ตัวเธอเอง ก็ผ่านการทำงานหลายที่ภายในกลุ่ม ทำให้ได้เรียนรู้ และเข้าถึงวัฒนธรรมองค์กรที่หลากหลายเป็นอย่างดี

ดร.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์

แม่ทัพใหญ่ของ ช.การช่าง จบคณะอักษรศาสตร์ (ภาษาอิตาลี) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อโทคณะบริหารรัฐกิจที่สหรัฐอเมริกา เธอเคยทำงานที่ธนาคารโลก ประจำประเทศไทยในตำแหน่งนักวิจัย ก่อนไปศึกษาต่อและจบปริญญาเอก สาขารัฐประศาสนศาสตร์ (Public Policy) ที่สหรัฐอเมริกา และเข้ามาทำงานกับธุรกิจของครอบครัวได้กว่า 10 ปี จนกระทั่งได้รับมอบหมายให้ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่

 

“คุณหนิง” บอกว่า ปรัชญาการทำธุรกิจของ ช.การช่าง ที่ให้ความสำคัญมาตลอด คือ การทำงานหรือโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงการด้านการก่อสร้าง หรือด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน

 

เวลาคุณปลิว ให้โอวาทกับพนักงาน สิ่งที่ท่านพูดอยู่เสมอคือ เราจะเลือกทุกโครงการที่เป็นประโยชน์ ต้องตอบแทนบุญคุณประเทศชาติ และสิ่งนี้นอกจากเป็นดีเอ็นเอของตัวเธอเองแล้ว ยังเป็นดีเอ็นเอ ที่ค่อยๆ ปลูกฝังให้กับพนักงานของ ช.การช่าง

แม่ทัพหญิง ช.การช่าง สานแนวคิดสร้างธุรกิจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม 

“คุณปลิว เป็นต้นแบบ ท่านสอน เสมอว่า ทำธุรกิจก็ต้องทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ พาร์ตเนอร์ และผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ไม่ใช่มุ่งแต่ประโยชน์ของเราคนเดียว”

 

คำสอนของคุณปลิว ได้สานต่อไปถึงงานด้านสังคม ที่เน้นการเชื่อมโยงกับศักยภาพความสามารถด้านช่างที่คนในองค์กรมีองค์ความรู้ โดยการส่งเสริมทั้งการศึกษากับเยาวชน ช่างในชุมชน และให้พนักงานจิตอาสาที่มีทักษะความสามารถ ได้ร่วมเป็นผู้ถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ๆ เพื่อสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคมโดยให้ทุนสนับสนุนด้านการศึกษา วิศวกรรม ด้านอาชีวศึกษา ที่เน้นด้านงานวิศวกรรม และงานช่าง และล่าสุดยังขยายไปถึงการสนับสนุนด้านนวัตกรรมงานช่าง ซึ่งถือเป็นทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม โดยแนวคิดเหล่านี้ ก็ได้รับการถ่ายทอดมาจากคุณปลิวด้วยเช่นกัน

“คุณหนิง” เล่าย้อนหลังไปว่า เมื่อ 47 ปีที่แล้ว ช.การช่าง ก่อตั้งโดย พี่น้องตระกูล ตรีวิศวเวทย์ 2 คน คนหนึ่งเป็นช่างไม้ อีกคนหนึ่งเป็นช่างเครื่องยนต์ คนหนึ่งทำประตูไม้ ทำหน้าต่างไม้ อีกคนหนึ่งเคาะพ่นสีรถยนต์ ทั้ง 2 ร่วมกันก่อตั้ง บริษัท ช.การช่างฯขึ้นมา เริ่มจากการทำงานรับเหมาก่อสร้างเล็กๆ อยู่ในตึกแถวเล็กๆ จนกระทั่ง 47 ปีผ่านไป จากก่อสร้างโครงการเล็กๆ มาใหญ่ขึ้น และมีโครงการที่มีความสำคัญกับประเทศชาติมากยิ่งขึ้น จนทุกวันนี้ ก็ทำโครงการ สาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน โรงไฟฟ้าต่างๆ โดยงานเหล่านั้น เกิดขึ้นจากฝีมือของช่างชาวไทย ที่มีความสามารถไม่แพ้ระดับนานาชาติ

แม่ทัพหญิง ช.การช่าง สานแนวคิดสร้างธุรกิจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม 

หลักคิดหลายๆ อย่างในการทำงาน “คุณหนิง” ได้นำคำสอนจากคุณปลิวผู้เป็นพ่อ โดยหัวใจสำคัญของการบริหารงาน คือ คน โดยเฉพาะ ช่าง ซึ่งเป็นหัวใจหลักของธุรกิจ ช.การช่าง เพราะฉะนั้น เธอจึงพยายามผลักดันและส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพของคนเหล่านี้อย่างเต็มที่ เช่น การนำหลักสูตร Design Thinking เข้ามาให้พนักงานได้เรียนรู้ เพื่อนำไปพัฒนาการทำงาน ให้พวกเขาได้ลองคิดโจทย์กันว่า มีปัญหาสังคมอะไรที่ใช้ทักษะด้านช่างมาแก้ไขปัญหา และมีการลงมือทำจริง กิจกรรมการเพิ่มความรู้เหล่านี้ นอกจากจะทำให้พนักงานได้พัฒนาทักษะแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งทำให้ช่างรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองอีกด้วย

 

 

ในระยะเกือบ 5 ปีเต็มของการบริหาร ช.การช่างมีรายได้อยู่ที่ราว 3 - 3.5 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ในระดับ 2,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกันตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ด้วยโครงการมากมายที่เกิดขึ้น จากการเข้าร่วมประมูล และยังคงเดินหน้าเข้าร่วมประมูลโครงการสาธารณูปโภคอีกอย่างต่อเนื่อง ด้วยหลักคิดการเลือกโครงการที่มีขนาดใหญ่ ใช้โนว์ฮาวสูง หากโครงการไหนมีการดัมพ์ราคากันสูงก็ไม่เข้าร่วม หรือ บางโครงการก็หาพาร์ตเนอร์ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในการทำงานและการประมูล ซึ่งงานต่างๆ ที่ผู้บริหารหญิงคนนี้พร้อมบุก ไม่ใช่เพียงแต่โปรเจ็กต์ใหญ่ๆ ในไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโปรเจ็กต์บิ๊กในต่างประเทศ เธอก็นำพา ช.การช่างตะลุยเข้าไปลงทุนเช่นกัน

 

หน้า 28 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,548 วันที่ 13 - 15 กุมภาพันธ์ 2563

แม่ทัพหญิง ช.การช่าง สานแนวคิดสร้างธุรกิจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม