HANA รับ"ไวรัสโคโรนา"กระทบซัพพลายเออร์จากจีน

12 ก.พ. 2563 | 08:25 น.

HANA  รับห่วงกระทบห่วงโซ่อุปทาน วัตถุดิบที่จัดหาจากซัพพลายเออร์ที่ประเทศจีน หลังประเมินมาตรการควบคุม”ไวรัสโคโรนา” ส่งผลให้กำลังการผลิตของบริษัทย่อย ที่เจียชิง ประเทศจีน กลับมาผลิตได้ไม่เกิน 30%  คาดต้องใช้เวลา 4 -5 สัปดาห์ กว่าจะกลับมาเป็นปกติ

นายเทอร์เรนซ ฟิลิป เวียร์ กรรมการบริษัทฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด มหาชนหรือ  HANA  กล่าวว่าตามที่ทางรัฐบาลจีนออกกฏระเบียบล่าสุดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อควบคุมการระบาดของโรคไวรัสโคโรนาน้ัน ทางบริษัทฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (เจียซิง) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ฯ จำเป็นต้องให้พนักงานทุกคนที่กลับมาทำงานในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563 ที่มาจากจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่เมืองเจียซิงที่โรงงานตั้งอยู่นั้นจะต้องถูกกักบริเวณเป็นเวลา 14 วันดังกล่าว

บริษัทฯ ประเมินว่าในช่วงสองสัปดาห์ หลังจากเริ่มเปิดดำเนินการแล้วนั้นทางโรงงานสามารถดำเนินการผลิตได้ไม่เกิน 30% ของกำลังการผลิตและหากพนักงานที่โดนกักตัวเหล่านั้นได้รับการปล่อยตัวเรียบร้อยแล้ว บริษัทจะสามารถดำเนินการผลิตเพิ่มขึ้นได้ในสัปดาห์ต่อๆไปในสองวันแรกที่บริษัทฯได้เริ่มเปิดดำเนินงาน มีจำนวนพนักงานฝ่ายผลิตที่กลับมาจากต่างจังหวัดน้อยกว่า 10% ของจำนวนเดิมก่อนวันหยุดตรุษจีน เราคาดว่าจำนวนพนักงานจะกลับมาเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่ไม่สามารถประเมินได้ว่าท้ายสุดจำนวนของพนกังานเหล่านั้นจะกลับมาเท่าไร เนื่องจากปัญหาเรื่องการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ แต่บริษัทฯคาดว่าจะน้อยกว่าจำนวนเดิมอย่างมาก

สถานการณ์ล่าสุด ณ ปัจจุบันโรงงานสามารถกลับมาเปิดดำเนินการผลิตได้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563แต่ในระดับการผลิตที่ลดลงมากและคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อยอีก 4 -5 สัปดาห์จนกว่ายอดการผลิตจะกลับมาอยู่ในระดับปกติ เราเข้าใจว่าคำสั่งของรัฐบาลจีนดังกล่าวจะถูกบังคับใช้ในโรงงานจีนทุกแห่ง ดังนั้นบริษัทมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) สำหรับวัตถุดิบที่จัดหาจากซัพพลายเออร์ที่อยู่ในประเทศจีน ให้แก่โรงงานฮานาเจียซิง,โรงงานฮานา ประเทศไทยทั้งในอยุธยาและลำพูน รวมทั้งฮานากัมพูชา และฮานา สหรัฐอเมริกา

“ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับห่วงโซ่อุปทานของเราในขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประเมิน ซึ่งอาจยังไม่สามารถสรุปได้ชัดจนในเวลานี้แต่บริษัทฯ จะขอเรียนชี้แจงเพิ่มเติมในทันที่ที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นซึ่งขึ้นกับปัจจัยหลายประการด้วยกันแต่อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยยับยั้งอัตราการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาและเป็นการปฎิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง”