หยุดเถอะ.. นักการเมือง-สื่อ หยุดชิงเด่น“กราดยิงโคราช”

12 ก.พ. 2563 | 07:55 น.

คอลัมน์ปฏิกิริยา  โดย บิ๊กอ๊อต ปากพนัง

 

“รู้รัก สามัคคี” ยังจำกันได้ไหม พระราชดำรัส ที่มีค่าและมีความหมายลึกซึ้งของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9

ปีนี้หนูดุก็จริง เพราะปีนี้เริ่มต้นศักราชมกราคม ตามติดด้วย กุมภาพันธ์ ก็เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำๆ แต่เราต้องมีสติ ระลึกรู้ สมัครสมานสามัคคี มิใช่เอาเวลาโศกเศร้าของผู้สูญเสีย มาชิงความเด่นความดัง
   
อย่าให้มีเหตุการณ์ ยิงกราดแบบที่ลพบุรี หรือโคราชอีกเลย

เวลาเศร้าโศกเพิ่งผ่านพ้นไปไม่กี่วัน ยากที่จะทำใจ  ทุกชีวิตที่ยังอยู่ต้องเดินหน้ากันต่อไป โดยเฉพาะญาติผู้เสียชีวิตผู้บริสุทธิ์ของทุกฝ่ายทุกคน
      
เพราะมันเป็นการสูญเสียทั้งประเทศ ประชาชน ตำรวจ ทหาร
      
บอบช้ำที่สุดคือ “ผู้สูญเสีย” ซึ่งแน่นอนว่ารัฐต้องเร่งเยียวยา ทั้งด้านจิตใจ และความเป็นอยู่ 

 

หยุดเถอะ.. นักการเมือง-สื่อ หยุดชิงเด่น“กราดยิงโคราช”


      
เหตุการณ์ยิงกราดเช่นนี้ เคยมีแล้วใน 3 จังหวัดชายแดนใต้  เป็นเหตุที่เกิดจากผู้ก่อการร้าย ครั้งนั้นมีทั้งทหาร ตำรวจที่ต้องสูญเสียชีวิต รวมทั้งประชาชนอีกเช่นเคยที่โดนลูกหลง แต่เหตุการณ์กราดยิงล่าสุด แม้จะต่างกรรมต่างวาระ แต่เหมือนกันคือ “ต่างเลือดเย็น ฆ่าผู้บริสุทธิ์” 

ยิ่งไปกว่านั้นเป็นข้าราชการกินเงินเดือนราษฎรทั้งคู่ แต่ต่างกันที่คนแรก การศึกษาดีมาก เป็นข้าราชการระดับสูง พฤติกรรมจะเรียกอย่างไรดี 

เอาเข้าใจง่ายๆ “โหดลึก” ตระเตรียมการอย่างดี ฆ่าเสร็จ ยังมารดน้ำต้นไม้ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ส่วนอีกคน “โหดร้าวราน” เจ็บแค้นแค่ 2-3 คน แต่ กราดยิงทิ้งผู้บริสุทธิ์ไป 29 ศพ เนื่องเพราะป็นทหาร มีความแม่นปืน และปล้นอาวุธกองทัพมา 

แน่นอนทั้งคู่นั้นเล่นสื่อโซเชียล รายงานผลงานหรือแสดงผลงานราวกับรอรับถ้วยรางวัล

 

 

งานนี้ทั้งทหารและตำรวจ “ต้อง” ย้ำว่า “ต้อง” นำบทเรียนแสนแพงนี้เพื่อป้องกันและรับมือกับเหตุลักษณะนี้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้อีกบ่อยครั้ง หากเป็นไปตามงานวิจัยที่มีการกล่าวอ้างว่า 

“การเอ่ยชื่อ คนร้าย หรือ โพสต์ข้อความในสื่อออนไลน์นั้น นำมาซึ่งการเลียนแบบ นัยว่า “ต้องการสร้างตัวตน” หรือมีความสำคัญในสังคม และเวลานี้สื่อออนไลน์กลายเป็นสื่อไร้พรหมแดนอย่างแท้จริง มีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์”

 

หยุดเถอะ.. นักการเมือง-สื่อ หยุดชิงเด่น“กราดยิงโคราช”

 

แต่เหตุการ์ณหลัง มีตัวละครเพิ่มอีกสอง คือ “นักการเมือง และ สื่อมวลชน” ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมาก   
กับเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช จนไม่อยากจะเชื่อว่านี่คือส่วนหนึ่งของการเมืองไทย 

ฝ่ายการเมืองสามารถโยงทุกเรื่องเป็นประเด็นการเมืองโดยไม่สนใจข้อเท็จจริง


นักการเมืองหลายคนอาวุโสมากแล้ว ทั้งเคยเป็นรัฐมนตรีมาหลายสมัย แต่วุฒิภาวะไม่ถึง แต่แสดงตัวราวกับเป็นผู้รู้ในทุกเรื่อง  นำความขัดแย้งทางการเมืองมาผสมโรงกับเหตุการณ์อย่างเหลือเชื่อ พยายามโยนความผิดใส่รัฐบาลและเหมารวมว่ากองทัพเป็นต้นเหตุ 

เหตุการณ์หนึ่งที่ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า นักการเมืองอาวุโสท่านหนึ่ง กล่าวดูแคลนผบ.ทบ.ที่หลั่งน้ำตาขณะแถลงสรุปเหตุการณ์ว่า เล่นละครตบตาประชาชน วอนท่านอย่าพูดเอามันเลยครับ ประชาชนที่เคยเลือกท่านมาเป็น ส.ส.จะหลั่งน้ำตาด้วยความเหยียดหยามท่านเปล่าๆ ดีที่ตอนนี้ท่าน “ไม่” ได้เข้ามานั่งในสภาอันทรงเกียรตินี้  

ชายชาติทหารไม่หลั่งน้ำตาง่ายๆ นะครับ

 

 

ทั้งรัฐบาลและทหารต่างล้วนมีหน้าที่รับผิดชอบทั้งนั้น ต้องว่าไปตามกระบวนการ แต่เหตุการณ์นี้ ไม่มีใครอยากให้เกิดทั้งนั้น รึใครเถียง 

มาช่วยกันทำหรือคิดอย่างสร้างสรรค์กันหน่อยเถอะ คนไทยทุกคนเป็นเจ้าของประเทศไทย ดูประชาชนที่เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยม  พอมีเหตุการณ์แบบนี้ มีคนเสียเลือด ต้องการเลือด พรั่งพรูกันมาจนเกินพอ ตั้งแต่เย็นวันที่ 8 ถึงช่วงสายวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563

ต้องแบบนี้สิ ฝ่ายค้านมีอะไรดีๆ มาแนะนำรัฐบาล ดูอย่างมหาอำนาจฝั่งตะวันตก อย่างอเมริกาแม้จะจุ้นจ้านเรื่องประเทศอื่นไปหน่อย แต่สังคมการเมืองเขาเลือกตั้งจบทั้ง 2 พรรคใหญ่จะร่วมกันทำงานหาทางออก ของเราขยันไล่รัฐบาล เฮ้อ...!

 

หยุดเถอะ.. นักการเมือง-สื่อ หยุดชิงเด่น“กราดยิงโคราช”


มาถึงอีกตัวละครที่คราวนี้เจ็บปวด ก็ใครล่ะครับ พวกผมเอง สื่อมวลชน โดนก่นด่าเรื่องจริยธรรม จนนักข่าวรุ่นน้อง รุ่นเด็ก เป็นเดือดเป็นแค้น เรื่องไลฟ์สด ถูกกล่าวหามากมาย โดยเฉพาะประเด็นเห็นข่าวเร็วสำคัญกว่าค่าของคน น้องบางคนนอตหลุดครับ แหม่… น้องก็อย่าร้อนตัวสิครับ ไม่ใช่น้องค่ายเดียวสักหน่อย และเดี๋ยวนี้สื่อสิ่งพิมพ์ก็เป็นโซเชียลกันหมดแล้ว

ผมว่าแทนที่จะมาระบายอารมณ์ให้สื่ออื่นเอาข้อความของน้องมาโพสต์ต่อ สู้รอจังหวะดีๆ ให้เหตุการณ์โศกเศร้าผ่านพ้นไปสักระยะ หากมีเรื่องราวดี ๆที่น้องได้ทำ ได้ช่วยเจ้าหน้าที่ ณ เวลานั้น ได้เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย พอๆ กับเจ้าหน้าที่ ค่อยมาเล่า จะน่าชื่นชมกว่ามั้ย ประมาณว่าพูดทีหลังดังกว่า นี่น้องมาพูดระบายอารมณ์หมดเปลือกซะก่อน ทำให้คิดไปถึงถ้อยคำที่กล่าวกันหนาหูบ่อยๆ มากขึ้น คือ “การต้องการแสดงตัวตน ต้องการมีชื่อเสียง”

แม้จะโดนไปเต็มๆ จากรอบทิศ ก็ต้องยอมรับว่า ความผิดพลาด มันมีได้ แล้วรับความผิดนี้ไปปรับปรุงการทำงานต่อไป

ขนาดรัฐบาล ยังทำงานพลาด จนมีข่าวให้เรารายงานบ่อยๆ เลย

เราสื่อมวลชนต้องยอมรับนะครับว่า เราหาใช่ฐานันดรสี่อีกต่อไป พึงระลึกรู้ว่า โลกโซเชียลได้ทำให้ทุกคนเป็นนักข่าวได้ และสื่อทั้งมวลได้กลายเป็นสื่อ “มหาชน” ไปแล้ว