สภาหอฯขานรับลดดอกเบี้ย ลุ้นกดบาทอ่อนกู้ชีพส่งออก

15 ก.พ. 2563 | 03:26 น.

เอกชนชี้ไม่เซอร์ไพรส์ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1% ช่วยประคองเศรษฐกิจ สภาหอฯหวังลดแรงจูงใจทุนต่างชาติไหลเข้า กดบาทอ่อน 32 บาทต่อดอลลาร์ เพิ่มขีดแข่งขันส่งออกยามวิกฤติ จี้แบงก์เร่งลดดอกเบี้ยตาม ช่วยเพิ่มสภาพคล่อง

 

 

 

ปัจจัยลบ ทั้งไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และภัยแล้งที่ส่อรุนแรง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปีนี้ และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ที่หลายสำนักได้ออกมาปรับลดคาดการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปี 2563 เหลือเฉลี่ย 1.7-2.1% ส่งผลที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (วันที่ 5 ก.พ. 63) ได้มีมติเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.25% ลงเหลือ 1% ต่ำสุดในรอบ 20 ปี โดยให้มีผลทันที 

ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจส่วนใหญ่สนับสนุนต่อการตัดสินใจของ กนง.ในครั้งนี้

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เป็นเรื่องดี น่าจะลดดอกเบี้ยลงมาตั้งนานแล้ว ผลดีคือค่าเงินบาทน่าจะอ่อนค่าลงได้บ้าง จากการเก็งกำไรจากการลงทุนในพันธบัตรของเงินทุนต่างประเทศน่าจะมีน้อยลง เนื่องจากมองได้ว่า น่าจะไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกในอนาคตอันใกล้ เพราะอัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อแล้ว ซึ่งผู้ที่ลงทุนไปแล้วก็น่าจะทำกำไรได้แล้ว

“หากถือครองพันธบัตรต่อไป ผลตอบแทนก็ไม่น่ามีมากขึ้น น่าจะทำกำไรแล้วเอาเงินกลับออกไป ด้วยการขายบาทเปลี่ยนเป็นดอลลาร์แล้วส่งเงินออกไป เงินทุนไหลออกไป สำหรับเอกชนหวังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารจะปรับลงตาม ทำให้ต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการถูกลง อาจทำให้มีการลงทุนของภาคเอกชนมากขึ้นได้”

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) และรองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย ที่ต้องติดตามคือธนาคารจะลดดอกเบี้ยลงตามได้เร็วแค่ไหน ซึ่งสมาคมธนาคารไทย หรือผู้บริหารแต่ละธนาคารคงไปหารือกัน รวมถึงการลดดอกเบี้ยจะสามารถช่วยทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้มากน้อยเพียงใด หากอ่อนค่าลงได้อยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันส่งออกของสินค้าไทยได้มากขึ้นท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่มีมากขึ้นในเวลานี้

สภาหอฯขานรับลดดอกเบี้ย  ลุ้นกดบาทอ่อนกู้ชีพส่งออก

“จากการหารือกับหลายสมาคมการค้าที่เกี่ยวกับการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม เช่น อาหาร ข้าว น้ำตาล ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ ปีนี้จะได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย เช่น ค่าเงินบาท ไวรัสโคโรนา สรุปภาพรวมปีนี้คาดส่งออกไทยจะติดลบ 1.7%”

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3547 วันที่ 9-12 กุมภาพันธ์ 2563