Live สด…จรรยาบรรณ ไม่เท่าความเป็นคน

10 ก.พ. 2563 | 09:25 น.

จากเหตุการณ์กราดยิง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 63 ได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ และเกิดความสูญเสียอย่างมากมาย 

เหตุการณ์หลายครั้งที่เกิดขึ้น สิ่งที่ถูกตัดสินต่อสังคมอย่างแรกคือ ‘การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน’

ผลวิจัยของ US National Library of Medicine National Institute of Health เผยข้อมูลถึงพฤติกรรมการเลียนแบบบางสถานการณ์ (COPYCAT) เช่น การฆ่าตัวตาย สูบบุหรี่ กราดยิง อื่นๆ  จากสำรวจพบว่าหลังจากเกิดสถานการณ์กราดยิง จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีกครั้งภายใน 13 วัน

 

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้นในประเทศนิวซีแลนด์ช่วงที่ผ่านมา  นายกรัฐมนตรีที่ได้ออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่า งดเอ่ยชื่อของฆาตกร หรือไม่ให้พื้นที่สื่อกับเขาทุกกรณี และให้เอ่ยชื่อผู้ทำความดีหรือผู้สูญเสียแทน

 

‘สิ่งที่อาชญากรรมพวกนี้ต้องการ คือการมีตัวตน หรือการมีชื่อเสียง ดังนั้นคุณจะไม่มีทางได้ยินฉันพูดถึงชื่อเขา’ นายกประเทศนิวซีแลนด์ได้ให้เหตุผล

Live สด…จรรยาบรรณ ไม่เท่าความเป็นคน

++เรตติ้งความไว  ไม่คุ้มค่าประสบการณ์

ย้อนกลับมากรณีของประเทศไทย นายสิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านนโยบายสื่อ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อย่างที่ทราบกันดีว่าอาชีพสื่อมีหน้าที่ต้องขายข่าว และสื่อส่วนใหญ่จะมุ่งให้ความสำคัญกับความไว  แต่จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาหลายๆครั้งได้เป็นตัวบ่งชีแล้วว่าการขายข่าวที่ความไว  กลับไม่คุ้มค่าเลยที่จะแลกมาด้วยประสบการณ์ของผู้อาวุโสในทีมข่าว ที่ได้ใช้เวลาสั่งสมมานานหลายสิบปี 

 

จากการนำเสนอข่าวของสื่อบางส่วน ที่นำเสนอภาพหรือละเมิดสิทธิบุคคลเกินขอบเขต หากสื่อเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย เขาจะต้องถูก ‘ไต่สวนสาธารณะ’ (Public Hearing) อย่างแน่นอน

 

“ผมมองว่าความไว ที่แลกมาด้วยผลกระทบความเสียหายมากมาย  หากสื่อเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย จะต้องถูกไต่สวนสาธารณะอย่างแน่นอน  ส่วนตัวผมอยากถามกลับว่าการขายข่าวที่ความไว คุ้มค่าหรือไม่กับการแลกประสบการณ์ของคนทำงานข่าวที่ต้องใช้ระยะเวลา 17 ปี สร้างชื่อเสียงแต่แลกกับเรตติ้งในช่วงเวลา 17 ชั่วโมงที่เกิดขึ้น และแน่ใจได้อย่างไรว่าลูกค้าที่เลือกซื้อโฆษณา จะให้ความสำคัญกับการซื้อสื่อที่ไม่ได้คุณภาพ โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ไม่เสี่ยงแน่นอน"

Live สด…จรรยาบรรณ ไม่เท่าความเป็นคน

++จรรยาบรรณไม่เท่าความเป็นคน

ต้องยอมรับว่าในช่วงเวลาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 17 ชั่วโมง สื่อมวลชนถูกสังคมตัดสินว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างผลกระทบความเสียหายครั้งนี้  และหากสื่อมวลชนพูดถึงจรรยบรรณเชื่อว่าหลายสื่อคงตีความไปในรูปแบบที่แตกต่าง

 

ในวันนี้อยากให้สื่อลองปรับมาเปลี่ยน Mindset ใหม่และให้คุณค่า ‘ความเป็นคน’ มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาสังเกตเห็นแล้วว่าประชาชนเลือกแบ่งปันคอนเทนต์ในทางที่ดีขึ้น เช่น การแชร์ข่าว Fake News ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด  การแฮชแท็กไปยังสถานีข่าวที่นำเสนอข่าวไม่ถูกต้องโดยตรง แล้ววันนี้สื่อมวลชนได้ปรับรูปแบบการทำงานของตัวเองแล้วหรือยัง

 

“วันนี้ผมอยากให้สื่อมวลชนทุกคนปรับ Mindset การทำงานตัวเองใหม่ ซึ่งส่วนตัวมองว่าจรรยาบรรณไม่สำคัญเท่าความเป็นคน  สื่อมวลชนมีหน้าที่รายงานและสื่อสารต่อมวลชน ไม่ใช่หน้าที่นักสืบ FBI ฯลฯ  ซึ่งสัญลักษณ์ของเราคือนกพิราบไม่ใช่อีแร้ง  และหากยกตัวอย่างคนธรรมดา 1 คนหากคุณมองเห็นศพคนตาย 1 คนคุณจะถ่ายรูปและโพสต์ขึ้นบนสื่อหรือไม่  คำนึงถึงผลกระทบรอบด้านต่อผู้สูญเสียและนึกถึงใจเขาใจเราแค่ไหน  ดังนั้นสิ่งแรกที่สื่อมวลชนควรต้องคำนึงการทำข่าวในยุคนี้ คือ 1.ยอมรับว่าสื่อมวลชนมีปัญหา 2.ลดทิฐิและอคติส่วนตัว 3.เลิกให้ความสำคัญกับคำว่าฐานันดร 4 และ 4.ยอมรับฟังข้อเสนอแนะจากประชาชน”

Live สด…จรรยาบรรณ ไม่เท่าความเป็นคน

++สื่อมวลชน 4 เหล่า

การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในช่วงที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า วันนี้ในประเทศไทยได้มีสื่อมวลชนเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ 1.สื่อคงไว้ซึ่งจริยธรรม ทำหน้าที่รายงานข่าวได้สมบูรณ์และไม่ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ 2.สื่อที่พร้อมแก้ไข เมื่อได้รับคำแนะนำหรือท้วงติง ก็พร้อมปรับและแก้ไขการนำเสนอข่าวทันที 3.สื่อสายมั่น ที่มั่นใจกับการทำผิดพลาด ไม่แก้ไข ไม่ยอมรับ และยังนำเสนอข่าวแบบผิดๆต่อประชาชน  4.สื่อสายฉอด ไม่ยอมรับ ไม่แก้ไข นำเสนอและเถียงกลับในมุมองของตัวเองแบบผิดๆ

 

“ในมุมมองของผมที่ทำงานสายนี้มาอย่างยาวนาน  ผมยอมรับว่ามีบ้างบางเหตุการณ์ที่ผมทำผิดพลาด  แต่ผมก็ยังให้ความสำคัญกับการเป็นคน  และผมอยากให้สื่อมวลชนทุกท่านตระหนักว่าในเร็วๆนี้จะมี 5G เกิดขึ้นและหากมีสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้น  รวมทั้งสื่อมวลชนยังไม่ปรับรูปแบบการนำเสนอข่าวสาร  อนาคตผลกระทบสังคมในวงกว้างต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่ผมอยากให้สื่อมวลชนทุกท่านได้ฉุกคิด ?”