สธ.เผยไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาเพิ่ม

10 ก.พ. 2563 | 06:31 น.

สาธารณสุขเผยยังไม่พบผู้ติดเชื้อไสรัสโคโรนาเพิ่ม มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 22 ราย กลับบ้านแล้ว 10 ราย รวมสะสม 32 ราย แนะใช้มาตรการป้องกันตนเองลดความเสี่ยง

 

สธ.เผยไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาเพิ่ม

 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าสถานการณ์โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่า ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 22 ราย กลับบ้านแล้ว 10 ราย รวมสะสม 32 ราย
        

สำหรับคนไทยกลับบ้านจากอู่ฮั่น ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ ขณะนี้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 5 คน และอยู่ในเรือนรับรอง 133 คน ทุกคน สบายดีไม่มีไข้ รอครบระยะการเฝ้าระวังในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ส่วนผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ 1 ราย ที่โรงพยาบาลชลบุรี ไม่มีอาการผิดปกติ อื่นๆ เก็บตัวอย่างส่งตรวจเพิ่ม รอผลทางห้องปฏิบัติการ
        

ทั้งนี้ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม - 9 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ป่วย เข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 689 ราย คัดกรองจากสนามบิน 51 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 638 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 334 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 355 ราย
        

 

ส่วนสถานการณ์ทั่วโลกใน 26 ประเทศ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม– 9 กุมภาพันธ์ 2563 พบผู้ป่วยยืนยัน ติดเชื้อจำนวน 40,553 ราย เสียชีวิต 909 ราย ส่วนประเทศจีน พบผู้ป่วย 40,171 ราย เสียชีวิต 907 ราย
      

กระทรวงสาธารณสุขยังคงเน้นการเฝ้าระวัง คัดกรองนักท่องเที่ยว ผู้ทำงานใกล้ชิดนักท่องเที่ยว และผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปในวงกว้าง ในส่วนของประชาชนทั่วไป อาจมีข้อกังวลเรื่องการป้องกันตนเองให้ปลอดภัย ซึ่งการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 แพร่ผ่านละอองเสมหะ (respiratory droplets) เป็นหลัก ซึ่งผู้รับเชื้อต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ไอจามในระยะ 1 – 2 เมตร และต้องสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เข้าร่างกายผ่านทางเยื่อเมือก จากการนำเชื้อเข้าทางปาก ตา จมูก
      

อย่างไรก็ตาม ในบางสถานการณ์ เช่น มีการทำหัตถการทางการแพทย์ที่ทำให้เกิดการฟุ้งกระจาย เช่น การส่องกล้องหลอดลม ดูดเสมหะจากปอด ละอองเสมหะจะเล็กลงกลายเป็นฝอยละอองขนาดเล็ก ทำให้ปลิวไปได้ไกลขึ้น ซึ่งกลุ่มเสี่ยงในสถานการณ์นี้ คือ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ผู้ทำหัตถการและผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ดังนั้นประชาชนทั่วไปขอให้ยังคงมาตรการป้องกันตนเอง ด้วยการ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องไปอยู่ในที่ชุมชน มีคนหนาแน่น จะช่วยลดความเสี่ยงการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้