ปั้น651ไร่ เมืองใหม่อู่ตะเภา

12 ก.พ. 2563 | 02:30 น.

“คณิศ” ลั่น อู่ตะเภา เซ็นสัญญาบีทีเอส-หมอเสริฐ จบในเดือนเมษายน เผยทำเลทอง แปลงงาม ปั้นมิกซ์ยูส 651 ไร่ ดักกำลังซื้อ อาลีบาบาดอดซื้อที่แปดริ้ว กว่างซีลุยต่อโรงไฟฟ้า ด้านไฮสปีด ซีพีกู้แบงก์ไทยพาณิชย์ เป็นส่วนใหญ่ เชื่อ 2 โปรเจ็กต์ยักษ์ สร้างความเจริญให้พื้นที่

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ใช้เวลา 2 ปี สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้าพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ทั้ง การบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อีอีซี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 6.5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะการลงนามในสัญญาอภิโปรเจ็กต์ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง -สุวรรณภูมิ -อู่ตะเภา) มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท กับบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด หรือกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ไปแล้ว

ขณะเดียวกันยังได้ตัวผู้ชนะประมูล โครงการเมืองการบิน และ สนามบินอู่ตะเภา อย่างไม่เป็นทางการ กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS (บีทีเอส กรุ๊ป-บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น หรือ STEC) ที่ให้ผลตอบแทนรัฐสูงสุด มูลค่า 3.05 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทั้ง สกพอ. และคณะกรรมการอีอีซี ต่างมั่นใจว่าเมืองการบินจะเซ็นสัญญาได้ภายในเดือนเมษายนนี้

ปั้น651ไร่  เมืองใหม่อู่ตะเภา

เมษาเซ็นสัญญาอู่ตะเภา

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระบุว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตอีอีซี 6.5 แสนล้านบาท สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเดินหน้าโครงการไฮสปีดเทรน ซึ่งปัจจุบัน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ดำเนินการ และได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารไทยพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับเมืองการบินอู่ตะเภา ได้ตัวผู้ชนะอย่างไม่เป็นทางการ ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าจะลงนามในสัญญา พัฒนาเมืองการบินและสนามบินอู่ตะเภาได้ภายในเดือนเมษายนนี้

“อยากให้จบทั้งหมดภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้ทั้ง 2 โครงการ เดินหน้าไปพร้อมกันโดยประเมินว่าในพื้นที่เขต
อีอีซีไม่สามารถขาดโครงการใดโครงการหนึ่งไปได้ ทั้งสนามบินอู่ตะเภา จะสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการเดินทาง ทั้งนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และสามารถเดินทางต่อไปยังพื้นที่อื่น ตลอดจนใจกลางกรุงเทพฯ ด้วยไฮสปีดเทรน”

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมาคณะกรรมการคัดเลือกได้พิจารณาข้อเสนอด้านราคา ของผู้ยื่นซอง กลุ่ม BBS ระบุว่า เป็นผู้ให้ผลตอบแทนแก่ภาครัฐดีที่สุด และล่าสุดได้มีหนังสือเชิญกลุ่มผู้ชนะประมูลมาเจรจาในรายละเอียดร่างสัญญา คาดว่าจะแล้วเสร็จและเสนอคณะกรรมการอีอีซีพิจารณาเห็นชอบในเดือนมีนาคม และเดือนเมษายน เซ็นสัญญาดังกล่าว

ปลื้ม“นาริตะ” บริหาร อู่ตะเภา

นายคณิศ กล่าวต่อว่า การพัฒนา 2 โครงการขนาดใหญ่ ต้องเชื่อมโยงระหว่างกันได้สะดวก ทั้งไฮสปีด กับเมืองการบิน ไม่จอดแวะพักรายสถานี แต่จะสร้างฟีดเดอร์ อย่างรถไฟฟ้ารางเบาพัทยา-ชลบุรีดึงคนเข้าระบบแทน ขณะการบริหารเมืองการบินและสนามบินอู่ตะเภาได้ นาริตะ รัฐวิสาหกิจญี่ปุ่น บริหารท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ จะมีความเป็นมืออาชีพสูง สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนมากขึ้น เนื่องจากมีมุมมองการพัฒนาต่อเนื่องเป็นระบบ

บีทีเอสปั้นมิกซ์ยูส

สำหรับการพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ พื้นที่อู่ตะเภา แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่า ผู้ชนะประมูลอย่างไม่เป็นทางการ อย่าง กลุ่ม BBS จะได้สิทธิ์พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองการบิน แบ่งออกเป็น 3 โซน ได้แก่ พื้นที่ 200 ไร่ ติดถนนสุขุมวิท กำหนดให้พัฒนาเป็นเกตเวย์ ที่จอดรถ ร้านค้าเชิงพาณิยชน์รองรับนักท่องเที่ยว นักเดินทาง ถัดไปจะเป็นพื้นที่ฟรีเทรดโซน อาคารผู้โดยสาร 400 ไร่ พื้นที่เมืองการบินพัฒนามิกซ์ยูสโรงแรมที่อยู่อาศัย โซนพาณิชย์ ศูนย์การค้า เหมือนประเทศญี่ปุ่น พื้นที่ 651 ไร่ รวมกว่า 1,000 ไร่ ซึ่งจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้คนเดินทางมาลงสนามบินอู่ตะเภาและแวะพัก ทำกิจกรรม ก่อนเดินทาง และมั่นใจว่าจะสร้างรายได้ให้เอกชนและรัฐอย่างมาก

ขณะเดียวกัน สกพอ. ยังเปิดให้คนพื้นที่ลงทุนโครงการ การท่องเที่ยวระดับชุมชนเชิงเกษตร รองรับนอกจากที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้นในเขตอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง การพัฒนาโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก ที่บริเวณมาบข่า 23 ไร่

ปั้น651ไร่  เมืองใหม่อู่ตะเภา

กว่างซี ลุยเฟส 2 อาลีบาบา ดอดซื้อที่

อย่างไรก็ตาม เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดย บริษัทซีจี คอร์เปอเรชั่น จำกัด ได้ลงนามในสัญญากับจีน ดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรม ซีพีซีจี ขนาดพื้นที่ 3,068 ไร่ ร่วมกับ บริษัทกว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป ยีอานฯ มูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท และเกิดอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้น 20,000 อัตรา ระยะต่อไปเตรียมสร้างโรงงานไฟฟ้าทั้ง 3 เฟส กำลังไฟฟ้าประมาณ 100 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาพาร์ตเนอร์เพื่อร่วมลงทุน อย่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) โดยเฟสแรก เริ่มต้นกำลังไฟฟ้า 38 เมกะวัตต์

ขณะ ฉะเชิงเทรา มีความเคลื่อนไหวของนักลงทุน เข้าพื้นที่มากขึ้น นายวัชระ ปิ่นเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วัชราดล จำกัด ในฐานะนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ ฉะเชิงเทรา ระบุว่า บริเวณใกล้กับโรงงาน
โตโยต้าบ้านโพธิ์ กลุ่มทุนอาลีบาบา ซื้อที่ดินประมาณ 2,000 ไร่ คาดว่าจะ พัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ยังกังวลว่า กลุ่มซีพีจะปรับแนวเส้นทางใหม่ ทำให้ เอกชนที่ซื้อที่ดินไปได้รับผลกระทบ

ปั้น651ไร่  เมืองใหม่อู่ตะเภา

รฟท.เร่งส่งมอบพื้นที่

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กล่าวว่า เอกชนมีการปรับแนวเส้นทางเพียงเล็กน้อยเพื่อความเหมาะสม ของการก่อสร้าง แต่ยังอยู่ในกรอบเส้นทางที่จะเวนคืน ซึ่งการออกแบบก่อสร้างอาจมีการแก้ไขบ้าง 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3547 วันที่ 9-12 กุมภาพันธ์ 2563