เครื่องยนต์ ขับเคลื่อนศก.อ่อนแรง

08 ก.พ. 2563 | 09:30 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3547 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 3-11 ก.พ.2563

 

     ผ่านพ้นไปได้เพียงเดือนแรกของปีนี้ หน่วยงานต่างๆ ออกมาส่งสัญญาณถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่จะต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงมากมาย สะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจของประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ไม่ว่าสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้เหลือ 2.8% จากที่คาดการณ์ไว้ 3.3% คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับประมาณการใหม่ อยู่ที่ 2-2.5% ลดลงจาก 2.5-3% ธนาคารทหารไทย หรือทีเอ็มบี ปรับลดจีดีพีเหลือ 1.7-2.1% จากเดิมคาดไว้ที่ 2.7%

     ที่สำคัญคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ออกมาประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เหลือ 1.00% ต่อปี ถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะยํ่าแย่ จึงงัดมาตรการนี้ออกมาใช้

     ตัวเลขดังกล่าวได้สะท้อนมาจากเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่มีอยู่ 4 เครื่องยนต์ อ่อนแรงกำลังใกล้จะดับ ไม่ว่าจะเป็น การบริโภค การลงทุน ภาครัฐและเอกชน การใช้จ่ายของภาครัฐ และการส่งออกที่รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเข้าไปด้วย ซึ่งต้องจับตาสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ ว่าการปรับตัวเลขจีดีพีใหม่จะออกมาอย่างไร

 

     หากไล่เลียงเครื่องยนต์ทั้ง 4 ตัว จะพบว่าเวลานี้การบริโภคภายในประเทศอยู่ในภาวะชะลอตัว จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาภัยแล้งที่กำลังวิกฤติ รายได้เกษตรกรหาย ราคาพืชผลทางการเกษตรยังตกต่ำ ฉุดกำลังซื้อการบริโภคของรากหญ้าภายในประเทศ

     ขณะที่การลงทุนภาครัฐและเอกชน ที่เจอมรสุมกับความล่าช้างบประมาณเบิกจ่าย ทำให้การเบิกจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยิ่งช้าออกไปจากปกติที่ควรเบิกจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 และงบลงทุนของปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 6.6 แสนล้านบาท ที่อาจกระทบโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศ หลัง 9 เดือนปี 2562 การลงทุนรวมขยายตัวเพียง 2.6% โดยเฉพาะลงทุนภาครัฐ ขยายเพียง 1.7%

     จากปัญหาโรคระบาดไวรัสโคโรนาที่พบผู้ติดเชื้อตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ตัวเลขวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้เสียชีวิต 637 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 2-3 ราย และยอดผู้ติดเชื้อพุ่ง 31,211 ราย ดับฝันภาคการท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวหายไปเป็นจำนวนมาก กระทบต่อธุรกิจต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ รวมถึงกระทบต่อการส่งออกสินค้า ที่ต้องเจอ 2 เด้ง จากข้อตกลงการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ระยะที่ 1 ที่จีนจะต้องสั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น กระทบมายังไทยที่จีนจะสั่งซื้อสินค้าลดลง

     สศช.ระบุว่า หากจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นได้ จะต้องเร่งการขับเคลื่อนการส่งออก ต้องให้มูลค่าการส่งออกกลับมาขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3.0% จากปี 2562 ติดลบ 2.7% การกระตุ้นการท่องเที่ยวให้สามารถกลับมาสู่ภาวะปกติ การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน และการดูแลเกษตรกร วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก

     ดังนั้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่างๆ ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันฟันฝ่า และฝากไปถึงรัฐบาลว่าจะมีมาตรการต่างๆ อะไรออกมา ที่จะฝ่าคลื่นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ไปให้ได้