BCAP ปักหมุด  อาสาพาคนไทยลุยลงทุนนอก

12 ก.พ. 2563 | 08:10 น.

 

หลังจากใช้เวลากว่า 5 ปีในการวางรากฐานการเติบโตภายใต้วิชันThink Global” ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บางกอกแคปปิตอล จำกัด หรือ BCAP ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ(AUM) เติบโตจาก 1.5 หมื่นล้านบาทในปี 2558 เพิ่มเป็น 4 หมื่นล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2562 โตเกือบ 300% และยังตั้งเป้าหมายเติบโตอีก 25-30% ในปีนี้ เพื่อให้ในอีก 2-3 ปีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 8 หมื่นล้านบาทและคาดว่าจะแตะ 1 แสนล้านบาทในปี 2567

เมธ์วดี  ประเสริฐสินธนากรรมการผู้จัดการ BCAP เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ปีนี้เป็นปีที่เราจะออกกองทุนเยอะที่สุด 20 กองทุน ซึ่งเป็นกองย่อยที่จะเอาไว้ใช้ทำจัดสรรสินทรัพย์เพื่อการลงทุน (Asset Allocation) หลังจากช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้วางรากฐานของระบบ เพื่อรองรับการลงทุนและบริหารสินทรัพย์แบบโกลบัล เราไปหลายประเทศ หลายภูมิภาค และยังลงทุนใน Asset Class หลายแบบมาก ระบบที่เราสร้างมาจึงเป็นโกลบัลแพลตฟอร์ม โดยเริ่มต้นจากกองทุนอีทีเอฟ(ETF)ก่อน จากนั้นเป็นกองทุนส่วนบุคคล  กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งทั้งหมดเป็นการลงทุนในต่างประเทศ เสร็จแล้วจึงเป็นกองทุนที่ลงทุนตามช่วงอายุ (Life Path) และกองทุน MSCI ล่าสุดปีที่ผ่านมา ออกกองทุนรวม 5 กองทุน ถ้าปีนี้ออกอีก 20 กองจะทำให้แพลตฟอร์มของเราทั้งหมดครบสมบูรณ์

ทั้งนี้เราจะแบ่งลูกค้าออกเป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเป็นรายย่อยทั่วไป เป็นกลุ่มที่เราจะออกกองอีทีเอฟและกองทุนรวมทั่วไป กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  อีกกลุ่มเป็น Ultra Hight Network จะเป็นกลุ่มที่เป็นลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเราจะมีกองหลายแบบ มีตั้งแต่กองที่ออกไปต่างประเทศ กองทุนลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ และสุดท้ายเป็นกลุ่มบริษัทต่างๆ ที่มีสภาพคล่องหรือเงินลงทุนเหลือ ซึ่งเป็นลูกค้าฐานใหญ่ของเรา ที่เป็นฐานลูกค้าของธนาคารกรุงเทพ

เมธ์วดี  ประเสริฐสินธนา

 

ดังนั้นเมื่อเราวางกองหลักครบแล้ว ภายใต้ GlobalWealth จะมีกองเล็กๆที่เป็นกองทุน ของเรา เราเป็นฟันด์ออฟฟันด์ ไม่ใช่ฟีดเดอร์ฟันด์ ฟันด์ออฟฟันด์ คือ เราจะไปลงทุนในกองทุนของเรา โดยที่เราจะไม่เก็บค่าธรรมเนียมที่ซํ้าซ้อน และโมเดลนี้จะทำให้ง่ายในการวางรูปแบบที่จะโต เพราะแต่ละกองทุนจะมีผู้จัดการดูแลและคอยปรับพอร์ตตลอดเวลา เวลาที่ออกกองทุนใหม่ๆมา กองทุนเหล่านั้นก็จะไปลงทุนในกองทุนที่มีอยู่แล้วในทุกโมเดลที่อยู่ในการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนทั่วโลก ทีมจัดการจะง่าย ไม่ต้องสร้างทีมเพิ่ม อย่างบลจ.อื่น เขาอาจจะไม่เหมือนกับเรา จะมีผู้จัดการกองทุนดูแลแต่ละกองแยกต่างหาก อย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็จะมีคนดูแล กองทุนรวมจะมีอีกชุดหนึ่ง  เราจะมีผู้จัดการ 1 ชุด ดูแลตามความชำนาญของการลงทุนนั้น ไม่ได้ดูตามกลุ่มลูกค้า เวลาจะโตก็ไม่ต้องสร้างทีมเพิ่ม  ออกกองทุนภายใต้กองเหล่านั้นได้อีก

 

เราสร้างโมเดลให้แตกต่างจากคนอื่นอยู่แล้ว ลักษณะของเราบอกได้เลยว่า เป็นการลงทุนตรง คนอื่นออกมาจะเป็นฟีดเดอร์ฟันด์ แต่เราพิสูจน์แล้วว่าโมเดลของเราที่ทำให้กับลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพปีที่แล้วประสบความสำเร็จมากลูกค้าพอใจ อย่างกองทุนที่เสี่ยงตํ่าสุดคือ ลงทุนตราสารหนี้โลกและตราสารหนี้ไทยด้วย 95% มีหุ้น 5% ผลตอบแทน 3.4% กองทุนที่เสี่ยงสุดคือถือหุ้น 100% ผลตอบแทนอยู่ที่ 7.8% เราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การกระจายการลงทุนไปต่างประเทศ ไม่กระจุกตัวที่ใดที่หนึ่ง มันมีประโยชน์ในเวลาที่ตลาดไทยปรับตัวลงตํ่ามาก และลักษณะพอร์ตแบบนี้จะมีเสถียรภาพ

ดังนั้นจึงเป็นหลักการว่า การลงทุนเพื่อเกษียณอายุของทุกคน มันควรเป็นลักษณะนี้ คือ Globally Diversified แล้วให้มันทำงานไป ไม่ได้เน้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ปล่อยผู้จัดการกองทุนปรับพอร์ตให้เอง โดยคงคอนเซ็ปต์ว่า อายุน้อยก็ควรจะรับความเสี่ยงได้มากกว่าคนที่อายุมากใกล้เกษียณ เพราะคนออมเงินก็เพื่อส่งไม้ต่อให้ลูกหลาน ก็เพื่อเกษียณอายุ มันคือคีย์เวิร์ดของการออมทั้งหมด การลงทุนของเราจึงเป็นการลงทุนเพื่อส่งเสริมการออม เป็น Solution base ไม่ใช่ว่าออกอะไรมาแล้วนำสิ่งนั้นไปขายให้กับลูกค้า แต่จะคิดก่อนว่า ลูกค้าต้องการอะไร

 

เป้าหมายหลักของเราคือ Global Asset Allocation และไม่ใช่แค่ตอนนี้ แต่ตลอดไป และซื้อขายได้ตลอดเวลา ทำไมคนไทยจะต้องลงทุนแค่เมืองไทย  เพราะตลาดเมืองไทยแค่ 0.5% ของโลก ขณะที่มีโอกาสมากมายในโลก เช่น บริษัทในสหรัฐอเมริกา แค่แอปเปิลตัวเดียวก็เท่ากับตลาดไทยทั้งตลาดเทรด 2 รอบ มีหุ้นกู้เยอะแยะที่เป็น BBB ต่างประเทศ ในสหรัฐฯ ก็เท่ากับพันธบัตรรัฐบาลของไทย ทำไมเราต้องปิดตัวเองอยู่แค่สินทรัพย์ของไทย มันมีอะไรมากมายที่ลงทุนได้ทั่วโลกที่บางทีผลตอบแทนก็สูงกว่าตราสารหนี้ไทยสภาพคล่องก็น้อย ความต้องการสูงมาก ออกอะไรมาก็หมด ขณะที่ผลตอบแทนก็ตํ่า ด้วยเครดิต เรตติ้งที่รับได้ ที่คนจะซื้อได้ก็มีจำกัดเงินที่เข้ามาก็ผ่านไปตลาดตราสารหนี้ ยิ่งกดผลตอบแทนลงตํ่าแล้วทำไมคุณถึงจะไม่ลงทุนในต่างประเทศ

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,547 วันที่ 9-12 กุมภาพันธ์ 2563