ลดดอกเบี้ยกู้ ช่วยลูกค้าสู้ไวรัสโคโรนา ท้าทายผลประกอบการแบงก์ Q1

06 ก.พ. 2563 | 09:45 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง ลดดอกเบี้ยกู้...ช่วยลูกค้าสู้ไวรัสโคโรนา ท้าทายผลประกอบการแบงก์ไตรมาส 1/63 

 

หลังจากที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 นำมาสู่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาที่ 1.00% อันเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นั้น ธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ก็ได้นำร่องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR และ MLR ตาม ทั้งนี้ ทิศทางดอกเบี้ยในประเทศที่ลดลงดังกล่าว คงมีผลช่วยเสริมทัพกับมาตรการผ่อนคลายทางการคลังต่างๆ ที่ทางการทยอยบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่อประชาชนและภาคส่วนธุรกิจต่างๆ ที่ถูกซ้ำเติมจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ขณะที่ สำหรับผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์นั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลักษณะดังกล่าว ย้ำภาพที่สถานการณ์ผลประกอบการไตรมาส 1/2563 จะอยู่ภายใต้หลายแรงกดดัน โดยเฉพาะเมื่อธนาคารพาณิชย์ที่เหลือทยอยประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม ดังนี้

 

ลดดอกเบี้ยกู้...ผลกระทบทางตรงต่อรายได้ดอกเบี้ย

 

แม้ในรอบนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ (ลดลง 0.10-0.25%) และประจำ (ลดลง 0.05-0.25%) สำหรับนิติบุคคลและลูกค้าสถาบันต่างๆ ด้วย แต่เนื่องจากยังไม่สามารถรับรู้ต้นทุนที่ลดลงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำดังกล่าวได้ทันที ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์สำหรับนิติบุคคลและสถาบันต่างๆ มีสัดส่วนประมาณ 20% ของเงินฝากทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้น จึงช่วยลดทอนผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมในขนาดที่มากกว่า (ลดลง 0.25%) และกระทบพอร์ตสินเชื่อในสัดส่วนที่มากกว่า ได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น โดยคาดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 1/2563 ประมาณ 0.03-0.07% ต่อปี หรือคิดเป็นผลกระทบต่อกำไรสุทธิปี 2563 ประมาณ 2-5%

 

 

คาดสถานการณ์สินเชื่อใหม่ที่ยังอ่อนแอตามภาวะการใช้จ่าย อันที่จริงแล้ว สินเชื่อเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวกว่าที่คาดตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/2562 ที่ผ่านมา ทำให้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยคงปิดปี 2562 ประมาณ 2.2% ซึ่งต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 3.0% 

 

เปิดมาในช่วงเดือนแรกของปี 2563 โมเมนตัมของสินเชื่อใหม่ โดยเฉพาะสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีที่มีสัดส่วนถึงราว 40% ของสินเชื่อทั้งหมด ยังคงอ่อนแอต่อเนื่องตามภาวะการใช้จ่ายในประเทศและการชะลอตัวของการส่งออก อันทำให้คาดว่าสินเชื่อ สิ้นไตรมาส 1/2563 จะขยายตัวมาอยู่ในกรอบประมาณ 2.0%-2.2% ซึ่งทรงตัวถึงชะลอลงจากสิ้นปี 2562 ขณะที่ ประเภทสินเชื่อที่ยังพอเติบโตได้ จะเป็นสินเชื่อรายย่อย อาทิ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เน้นกลุ่มลูกค้าที่ยังมีอำนาจซื้อ  ส่วนสินเชื่อที่ให้กับลูกค้ารายใหญ่นั้น แม้จะได้รับอานิสงส์จากความต้องการสินเชื่อของลูกค้ารายใหญ่บางกลุ่ม เพื่อรองรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ผ่านการประมูลไปแล้วในปีก่อนหน้า การลงทุนใน 5G  หรือขยาย/ควบรวมกิจการ แต่ก็มีโอกาสที่จะเผชิญการชำระคืนหนี้ อันจำกัดการเติบโตของยอดสินเชื่อของลูกค้ากลุ่มนี้ได้

 

งานหลักในช่วงนี้ คงอยู่ที่การผลักดันมาตรการช่วยเหลือลูกค้า เพื่อประคองให้ก้าวข้ามสถานการณ์ที่ยากลำบาก โดยในจังหวะที่ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถคาดหวังการปล่อยสินเชื่อใหม่ (New Booking) ได้มากนักนั้น น้ำหนักของงานจึงไปอยู่ที่การดูแลลูกค้าปัจจุบันให้สามารถรับมือกับภาวะที่ยอดขายลดและรายได้ชะลอ ด้วยการ 1) สนับสนุนสภาพคล่องเพื่อต่อลมหายใจให้กับลูกค้า ผ่านโครงการสินเชื่อกับภาครัฐ อาทิ บสย.และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ   2) ติดตามและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งนำมาสู่การปรับอัตราดอกเบี้ยให้กับลูกค้า ปรับเทอมหรือระยะเวลาของการชำระหนี้ให้เหมาะสมกับความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของลูกค้าในระยะนี้  ซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็คงกลับมามีผลลบบางส่วนต่อรายได้ดอกเบี้ยรับของธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 1/2563 เช่นกัน แม้ว่าผลกระทบจากการปรับปรุงวิธีคิดค่าธรรมเนียมการชำระหนี้ก่อนกำหนด ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับบัตรเดบิตและเอทีเอ็มที่ ธปท.ประกาศไว้ช่วงต้นปี 2563 อาจลดลงกว่าที่คาดไว้เดิม เนื่องจากประเด็นการปรับวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่มีผลกระทบมากสุดนั้น ได้ถูกเลื่อนออกไป เพื่อรอความพร้อมของการปรับปรุงตัวระบบ ให้สามารถคำนวณการคิด/ตัดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าว ให้สอดคล้องกับรายละเอียดของแนวปฏิบัติของ ธปท.ได้

 

 

กระนั้นก็ดี จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาต่อการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทำให้คาดว่าเอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ (ไทยและสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ) มีโอกาสขยับขึ้นในไตรมาส 1/2563 เข้าหาระดับ 3.05-3.10% จาก 2.98% ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งจะมีผลให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งอาจยังเลือกคงระดับการตั้งสำรองหนี้ด้อยคุณภาพในระดับสูงต่อเนื่อง

 

โดยสรุป แม้มองออกไปในไตรมาสแรกของปี ธนาคารพาณิชย์คงต้องเผชิญโจทย์หินหลายประการ ทั้งการลดดอกเบี้ย การชะลอตัวของสินเชื่อ ปัญหาคุณภาพหนี้ และการช่วยเหลือลูกค้าที่เผชิญปัญหาเศรษฐกิจในมิติต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ด้วยบทบาทการเป็นตัวกลางทางการเงินหลักของระบบเศรษฐกิจไทย จึงถือเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งผ่านนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของทางการ รวมถึงมีบทบาทในการช่วยเหลือลูกค้าในยามที่ประสบปัญหา เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถก้าวข้ามช่วงของภาวะที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน 

 

นอกจากนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญความเสี่ยงเฉพาะหน้า โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ข้างต้น แต่ด้วยสถานะของระบบธนาคารพาณิชย์ที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อสำหรับหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) ที่สูงกว่า 1.4 เท่าของหนี้ด้อยคุณภาพทั้งหมด อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงถึง 19.2% ณ สิ้นปี 2562 รวมถึงสภาพคล่องที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้มั่นใจว่าระบบการเงินไทยยังคงแข็งแกร่งและมีความสามารถที่จะรองรับความเสี่ยงต่างๆ ทั้งที่ปรากฏขึ้นแล้วและอาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ