อีวีหรูมาเต็ม เบนซ์CKDปี64

06 ก.พ. 2563 | 23:00 น.

ค่ายรถหรูไม่รอการสนับสนุน “อีวี” เพิ่มเติมของรัฐบาล เดินหน้าตามแผนเดิม “เมอร์เซเดส-เบนซ์” ยังคุยโควตาพิเศษไร้ภาษีนำเข้ากับบีโอไอไม่ลงตัว แต่ยืนยันเปิดตัว EQC ไตรมาส 3 ปีนี้ ก่อนขึ้นไลน์ประกอบในประเทศปี 64 ด้าน “วอลโว่” สบช่อง FTA สั่งอีวีจากโรงงานจีนเปิดตัวภายใน 2 ปีนี้

 

 

สำรวจความเคลื่อนไหวการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า100% หรือ “อีวี” ในไทยของบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ระดับหรู แม้จะมีแผนงานและช่วงเวลาต่างกันไป ตามการวางยุทธศาสตร์การผลิตในระดับโลกของบริษัทแม่ แต่ทุกค่ายเตรียมนำเข้ามาเปิดตัวพร้อมขายอย่างจริงจังตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป

ด้านเจ้าพ่อรถหรู “เมอร์เซเดส-เบนซ์” เคยชื่นชมรัฐบาลไทยว่ามีนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน แต่กลายเป็นว่าก้าวแรกสะดุดเล็กน้อย เมื่อตามแผนเดิมเตรียมนำเข้า EQC จากเยอรมนีมาขายปลายปี 2562 ภายใต้โควตาไม่เสียภาษีนำเข้า (ได้จำนวนหนึ่ง) จากสิทธิประโยชน์ตามแผนลงทุนประกอบรถรุ่นนี้ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม คำว่า “จำนวนหนึ่ง” ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ กับ บีโอไอ กลับเข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งค่ายรถยนต์จากเยอรมนีต้องการมากกว่า 500 คันในการทำตลาดล็อตแรก แต่บีโอไอให้ตัวเลขน้อยกว่านั้นมาก จนต้องกลับมาทบทวนแผน
กันใหม่

สุดท้ายจากการทำงานอย่างเข้มข้นในหลายมิติมีความชัดเจนว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) เตรียมนำเข้า EQC มาขายภายในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยไม่สนว่าบีโอไอจะให้โควตาพิเศษแบบไม่เสียภาษีนำเข้ากี่คัน พร้อมแต่งตั้ง 4
ดีลเลอร์รายใหญ่ ทั้ง เบนซ์ ทีทีซี, บีเคเค, สวนหลวง และตลิ่งชัน เข้ามาดูแลการขายและบริการหลังการขายในช่วงแรก

“โควตาที่เคยขอบีโอไอยังไม่ได้ข้อสรุป และยังพูดคุย​กันต่อเนื่อง แต่ถ้าไม่ได้ตามจำนวนที่ขอ บริษัทยืนยันจะนำเข้ามาขายอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบัน​รถยนต์​ไฟฟ้า​ถือเป็นทางเลือก​ที่เหมาะสม​ ในการช่วยลดมลพิษ​ได้” นายโรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท ​เมอร์​เซ​เด​ส -​เบนซ์​ (ประเทศไทย)​ จำกัด กล่าวและว่า

บริษัทเตรียมเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าภายในปีนี้ กับรุ่น EQC ที่นำเข้า​มาจากประเทศ​เยอรมนี​ ส่วนแผนประกอบอีวีในไทย คาดว่าจะเริ่มปี 2564 แต่สิ่งที่ยังเป็นห่วงคือโครงสร้างพื้นฐาน​อย่างเครือข่ายสถานีชาร์จไฟ ซึ่งในอนาคต​บริษัท​จะผนึกกำลังกับผู้แทนจำหน่าย​ทั้ง 36 แห่ง เพื่อเปิดเป็นสถานีชาร์จสาธารณะ ตอนนี้อยู่ใน​ระหว่าง​การพูดคุยกับพาร์ตเนอร์เพื่อดูความพร้อมในการติดตั้งแท่นชาร์จ เนื่องจากบางพื้นที่ต้องลงหม้อแปลงใหม่และประเมินว่าการลงทุนในส่วนนี้จะอยู่ที่ 2 ล้านบาท

ส่วนค่ายรถยนต์หรูยี่ห้ออื่นๆ พร้อมนำเข้า “อีวี” รุ่นใหม่มาขายเมืองไทยเช่นกัน โดยมีทั้งนำเข้ามาจากยุโรป และโรงงานประเทศจีนในอนาคต (ไม่เสียภาษีนำเข้าภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน)

เริ่มจาก “มินิ” ในเครือบีเอ็มดับเบิลยู เตรียมเปิดตัว “คูเปอร์ เอสอี” วันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ โดยช่วงแรกเป็นการนำเข้ามาจากอังกฤษ และในอนาคตมีโอกาสนำเข้าจากจีน หลังโรงงานใหม่สร้างเสร็จในปี 2565

อีก 2 แบรนด์เยอรมนี “อาวดี้” ประกาศนำเข้าอีวีมาขายในไทยทุกรุ่นตามการเปิดตัวของบริษัทแม่ หรืออย่างน้อยปีละ 1 รุ่น โดยปีที่แล้วเปิดตัว
เอสยูวี อีตรอน และปีนี้จะเป็นคิวของรุ่นสปอร์ตแบ็ก ส่วนปี 2564 เป็นรุ่นจีที ซึ่งรุ่นนี้พัฒนาบนพื้นฐานเดียวกับ “ปอร์เช่ ไทคานน์” ที่มีแผนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทย งานบางกอกมอเตอร์โชว์ 2020 เดือนมีนาคมนี้

ด้านแบรนด์หรูจากสวีเดน โดยนายคริส เวลส์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแผนงานเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยว่า ภายในเวลาปีครึ่งหรือไม่เกิน 2 ปีจากนี้จะได้เห็นการเปิดตัวอีวีรุ่นใหม่ โดยนำเข้ามาจากประเทศจีน ที่ได้สิทธิภาษีนำเข้า 0% ตอนนี้อยู่ในระหว่างการเจรจากับบริษัทแม่เรื่องโควตา, การนำเข้า และกลยุทธ์​ราคา, การจัดจำหน่าย

อีวีหรูมาเต็ม  เบนซ์CKDปี64

 

“มองว่าใกล้ถึงเวลาของรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะปัจจุบันมีปัญหาเรื่องมลพิษ และเราเองพูดเสมอว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้า ประกอบกับเราเป็นแบรนด์ที่เน้นความปลอดภัย ซึ่งความปลอดภัยในทีนี้ไม่ใช่แค่รถ แต่หมายถึงคนทั่วไปหรือโลกใบนี้”

ส่วนความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย​ในระยะใกล้ยังไม่รองรับ เพราะสถานีชาร์จไฟยังไม่ครอบคลุม โดยในพื้นที่กรุงเทพไม่มีปัญหา แต่ต่างจังหวัดต้องช่วยพัฒนา ขยายจุดชาร์จไปเรื่อยๆ ซึ่งวอลโว่ได้ให้วอลล์บ็อกซ์สำหรับลูกค้าที่ซื้อรถยนต์แบบปลั๊ก-อินไฮบริดไป ถือเป็นการช่วยกระจายจุดชาร์จและเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้าง​พื้นฐาน

นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวหลังจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพิ่งอนุมัติแพ็กเกจลงทุนโครงการรถยนต์ไฟฟ้าประเภท “อีวี”(หรือ BEV) ให้แก่ โตโยต้า ฮอนด้า และเอ็มจี โดยรายแรกได้อนุมัติพร้อมกันทั้งอีวี และปลั๊ก-อินไฮบริด

สำหรับ 2 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่นจะเริ่มทำตลาดไล่มาจากขุมพลังไฮบริด,ปลั๊ก-อินไฮบริด และอีวี ตามแผนงานในระดับโลก “โตโยต้า” ยืนยันว่าภายใน 3 ปี หลังรับบัตรส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ จะประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ซึ่งคาดว่าจะประเดิมด้วยรถปลั๊ก-อินไฮบริดก่อน ส่วนฮอนด้า เตรียมเปิดตัว ซิตี้ ไฮบริด ช่วงปลายปีนี้

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3546 วันที่ 6-8 กุมภาพันธ์