ศาลปกครองเบรก“กทม.”สร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา

05 ก.พ. 2563 | 11:25 น.

ศาลปกครองสั่งกทม.เบรกสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทาง 57 กม. ชี้เข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุลักษณะการก่อสร้างเป็นอาคารตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งกทม.ไม่ได้แจ้งแผนผังบริเวณ-แบบแปลนต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อน

 

วานนี้(5 ก.พ.63) ศาลปกครองกลางมีคำสั่งกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยสั่งห้ามมิให้กรุงเทพมหานคร(กทม.) ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เฉพาะในส่วนของแผนงานที่ 1 คือ ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น 

โดยศาลเห็นว่า การก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็น 1 ในจำนวน 12 แผนงานในโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยแผนงานดังกล่าวจะมีการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา กว้างประมาณ 6- 10 เมตร ยาวตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งระยะทางประมาณ 57 กิโลเมตร ล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อใช้เป็นทางสัญจรรองรับการเดินทางด้วยจักรยาน ชมทัศนียภาพ พักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกาย น่าจะไม่ใช่อาคารหรือสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำเจ้าพระยาที่เจ้าท่าจะพึงอนุญาตได้ตามมาตรา 117 วรรคสอง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย 2556 ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2537)ฯ และการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยามีผลกระทบต่อการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและมิใช่การสร้างสิ่งล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อการคมนาคมและการขนส่งทางน้ำตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง 

                                          ศาลปกครองเบรก“กทม.”สร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา

 

แต่ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าลักษณะสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งในการดำเนินโครงการดังกล่าวไม่ปรากฏว่า กรุงเทพมหานครได้มีการแจ้งและส่งแผนผังบริเวณ แบบแปลนฯ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนทำการก่อสร้างตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 9(พ.ศ. 2528) 

กรณีจึงมีมูลว่าการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาตามโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อปรากฏว่ากุรงเทพมหานคร ได้ดำเนินการเตรียมการที่จะดำเนินการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยามาเป็นลำดับ กรณีจึงถือได้ว่ากรุงเทพมหานคร ตั้งใจที่จะกระทำต่อไปซึ่งการละเมิดหรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง และการห้ามมิให้กรุงเทพมหานคร  ดำเนินการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา มิได้มีผลกระทบต่อการจัดทำบริการสาธารณะของกรุงเทพมหานคร จึงมีคำสั่งห้ามดังกล่าว

 

 

ทั้งนี้คดีดังกล่าวเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคมกับพวกรวม 12 ราย ยื่นฟ้อง คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กระทรวงมหาดไทย  และกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ขอให้ศาลเพิกถอนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และสั่งกรุงเทพมหานคร ยกเลิกการดำเนินโครงการดังกล่าวทั้งหมด และระหว่างศาลพิจารณาคดีขอให้มีคำสั่งห้ามกรุงเทพมหามหานครดำเนินโครงการ ซึ่งศาลได้มีการเรียกคู่กรณีไต่สวนไปเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะมีคำสั่งในวันนี้