ชงมท.1 สั่งปิดอาคาร “ยาแรง”ปราบโรงแรมเถื่อน

05 ก.พ. 2563 | 09:21 น.

คอลัมภ์: ตื่้น-ลึก-หนา-บาง

โดย    : เรดไลออน 

ปัญหาที่อยู่คู่กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมาช้านานก็คือธุรกิจนอกรีดผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นไกด์เถื่อน –โรงแรมเถื่อน-ทัวร์ศูนย์เหรียญปัญหาสุดคลาสสิกอยู่ยั่งยืนยงคู่ในวงการท่องเที่ยวมาช้านานและแก้ไม่ตกสักที

ในช่วงที่ท่องเที่ยวไทยกำลังเจอวิกฤต “ไวรัสอู่ฮั่น” ก็น่าจะถือโอกาสนี้ สังคายนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวครั้งใหญ่ไปเสียเลย โดยใช้จังหวะที่ “ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ” นายกสมาคม สมาคมโรงแรมไทย และทีมผู้บริหารได้เคยตบเท้าเข้าพบ  บิ๊กมท.1“พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา” เพื่อหารือเรื่องค้างคาใจ คือจัดระเบียบโรงแรมดึงโรงแรมผิดกฎหมายมาจดทะเบียนให้ถูกต้อง จะได้ไม่ต้องถูกตีตราว่าเป็น “โรงแรมเถื่อน” อีกต่อไป

ชงมท.1 สั่งปิดอาคาร “ยาแรง”ปราบโรงแรมเถื่อน

กดดัน“Airbnb”จดทะเบียน

โดยห้องพักที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย จะรวมถึงห้องพักให้เช่าระยะสั้นที่เสนอขายผ่านแพลตฟอร์มการจองห้องพักออนไลน์ต่าง ๆ เช่น แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) ที่แพร่หลายเป็นดอกเห็ดแต่ห้องพักประเภทนี้กลับไม่มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งตกอยู่ในสภาพไม่ต่างจาก “โรงแรมเถื่อน”

สมาคมโรงแรมไทยจึงต้องการให้ผู้ประกอบการที่พักให้เช่าระยะสั้นมาลงทะเบียนจดแจ้งกับหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอใบอนุญาตประกอบการอย่างถูกต้อง ให้เหมือนกับการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม

นอกจากนี้ยังเสนอให้ควบคุมไปถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ขายห้องพัก อยากให้ผู้ประกอบการที่พักให้เช่าระยะสั้นแจ้งเลขที่ใบอนุญาตด้วยเช่นกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการต้อนให้ผู้ประกอบการเข้าระบบทางอ้อม
 

บีบขายบนเว็บต้องมีใบอนุญาต
โดยสิ่งที่ตัวแทนจากสมาคมโรงแรมไทยหารือและขอให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามาดำเนินการจึงแยกเป็น 4 ประเด็นคือ 

1. เสนอออกกฎหมาย ห้ามโฆษณาโรงแรมผิดกฎหมาย ซึ่งจะรวมถึงการโฆษณาขายผ่านออนไลน์
2. จับกุมโรงแรมที่ทำผิดกฎหมาย โดยเพิ่มข้อหา พ.ร.บ.ควบคุมอาคารเข้าไปเพื่อให้ปิดห้ามใช้อาคาร
3. ให้มีการอัพเดตตัวเลขจำนวนห้องพัก โรงแรม ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเพื่อให้ทราบว่ามีจำนวนอยู่เท่าใดกันแน่
4. ประเด็นที่พ่วงเข้าไปอีกเรื่องก็คือการที่ แอร์บีเอ็นบีเข้าพบมหาดไทย โดยระบุว่าหนุนการท่องเที่ยวชุมชน นั้นในข้อเท็จจริงเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนเพราะเป็นการหนุนชุมชนราว 5% เท่านั้น แต่ 95% ของแอร์บีเอ็นบี เป็นการขายห้องพักในเมืองท่องเที่ยวหลัก เมืองรอง

“ทั้ง 4 เรื่องมีการหารือกันระหว่างสมาคมโรงแรมไทยและบิ๊กมท.1  เพื่อหาทางขจัดโรงแรมเถื่อน โดยใช้มหาดไทยที่มีอำนาจล้นมือเข้ามาจัดการ  เพราะข้อเท็จจริงการไล่จับโรงแรมเถื่อนทั่วประเทศนั้น จับกันไม่หวาดไม่ไหว ไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอ” 

ชงมท.1 สั่งปิดอาคาร “ยาแรง”ปราบโรงแรมเถื่อน

เจอผิดปิด-ห้ามใช้อาคาร

แถมที่ผ่านมาจับเสร็จก็เสียเงินค่าปรับแล้วก็กลับมาเปิดบริการใหม่ เพราะโทษไม่ร้ายแรง ค่าปรับสูงสุดไม่เกิน 2 หมื่นบาท และมีโทษจำคุกแต่ในทางปฏิบัติไม่เคยทำได้ ฉะนั้นจับเสร็จจ่ายค่าปรับเรียบร้อยก็กลับมาเปิดบริการต่อ เพราะคุ้มกว่า

“แต่ถ้าหากงัดพ.ร.บ.ควบคุมอาคารชุดเข้ามามีผลบังคับคือกรณีถูกจับสามารถสั่งปิดอาคารห้ามใช้ไปเลย โทษรุนแรงขนาดนี้น่าจะทำให้ผู้ประกอบการขยาดจะไม่กล้าทำผิดแน่นอน เพราะหมดทางทำมาหากิน”

ชงมท.1 สั่งปิดอาคาร “ยาแรง”ปราบโรงแรมเถื่อน
 

ส่วนกรณีการห้ามโรงแรมผิดกฎหมายโฆษณาขายผ่านออนไลน์ก็เท่ากับเป็นการกดดันทางอ้อมให้โรงแรมที่ขายกันเกลื่อนเว็บ ต้องแจ้งจดทะเบียนต่อนายทะเบียนให้ถูกต้อง ตามพ.ร.บ. ประกอบธุรกิจโรงแรมถึงจะมีสิทธินำไปขายผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ  เท่ากับปิดช่องทางการขายห้องพัก บีบให้เจ้าของมาแจ้งจดทะเบียน ต่อนายทะเบียนอีกทางหนึ่ง 

ตัวเลขพุ่ง อัตราเข้าพักไม่เพิ่ม

อีกทั้งที่น่าตกใจ? คือจนบัดนี้ประเทศไทยไม่เคยมีข้อมูลจำนวนห้องพักโรงแรมทั้งประเทศว่ามีเท่าไร จดทะเบียนเท่าไร ผิดก.ม.เท่าไร ไม่มีใครรู้เพราะไม่เคยมีตัวเลขที่แท้จริง  ส่งผลต่อเนื่องถึงการประเมินการลงทุนผิดพลาด เกิดคำถามตามมาว่าจำนวนนักท่องเที่ยวมาไทยปีที่ผ่านมาร่วม 40 ล้านคน 

แต่ทำไมอัตราการเข้าพักโรงแรมถึงไม่เพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวไปนอนที่ไหนกันแน่ !  ทำไมโรงแรมระดับ 3-4 ดาวถึงขายห้องพักไม่ได้ราคา โรงแรมสี่ดาวกลางเมืองบางแห่งติดแนวรถไฟฟ้าแต่กลับขายห้องพักในราคาเท่าเมื่อ 10 ปีก่อน กาลาดินเนอร์ ค่าเซอร์ชาร์จ ช่วงเทศกาล คนโรงแรมไม่รู้จักมานานมากแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องคับแค้นใจของเจ้าสัวโรงแรม แต่ยามที่เศรษฐกิจย่ำแย่ รัฐบาลก็หันมาพึ่งพาการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  ส่วนยามที่มีปัญหารัฐบาลไม่เคยเหลียวแล

ช่วง”วิกฤต” เช่นนี้จึงน่าเป็นเวลาที่เหมาะที่สุดในการหันมาจัดระเบียบธุรกิจโรงแรมให้ถูกกฏหมาย ใครเห็นด้วยยกมือขึ้น !!