60,000ราย ท่องเที่ยวอ่วม แรงงาน4ล้านคนระสํ่า

05 ก.พ. 2563 | 23:10 น.

โคโรนาพ่นพิษธุรกิจท่องเที่ยว 6 หมื่นราย แรงงานภาคท่องเที่ยวไม่ตํ่ากว่า 4 ล้านคนระสํ่าหนัก ชี้วิกฤตินี้สาหัสกว่าทุกครั้ง สทท.จี้รัฐบาลออกมาตรการแรงเยียวยาภาคธุรกิจช่วง 6 เดือน-1 ปีจากนี้

 

การหยุดส่งนักท่องเที่ยวจีนไปทั่วโลก จากผลกระทบจากไวรัสโคโรนา ส่งผลให้ในขณะนี้ธุรกิจที่รับตลาดนักท่องเที่ยวจีน บุ๊กกิ้งหายหมดทั้ง 100% ส่งผลให้ในขณะนี้บริษัทนำเที่ยวตลาดจีนหลายพันราย รถบัสขนาดใหญ่นับหมื่นคัน ต่างต้องหยุดให้บริการชั่วคราวไปโดยปริยายในช่วง 1-2 เดือนนี้กันถ้วนหน้า

 

ส่วนโรงแรมที่รับตลาดจีนเป็นหลัก ถูกยกเลิกห้องพักทั้ง 100% เช่นกัน จากปกติที่ก่อนหน้านี้มียอดจองห้องพักสูงถึง 80-90% รวมทั้งจากข้อมูลของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.)ยังพบว่ามีสายการบินต่างๆแจ้งขอยกเลิกเที่ยวบินเแล้ว 2,980 เที่ยวบิน ใน 6 สนามบินของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.(ข้อมูล ณ วันที่ 29 มกราคม2563) ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบทั้งระบบและหนักหนาสาหัสกว่าวิกฤติทุกครั้งที่ผ่านมา

 

ธุรกิจ6หมื่นรายอ่วม

 

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวร่วม 5-6 หมื่นราย ซึ่งมีแรงงานที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวไม่ตํ่ากว่า 4 ล้านคน กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งระบบ 

 

ผลกระทบไม่ใช่มีแค่จีนเป็นหลักเท่านั้น แต่ด้วยบรรยากาศเช่นนี้ทำให้นักท่องเที่ยวจากชาติอื่นชะลอการเดินทาง 

 

สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐในครั้งนี้ จึงไม่ใช่มาตรการเยียวยาทั่วไปเหมือนทุกครั้ง แต่ต้องการมาตรการแรงๆ ที่ช่วยผู้ประกอบการได้จริง เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายมีปัญหาขาดสภาพคล่อง และสิ่งที่จะเกิดขึ้นอันดับแรก คือ การสลับวันหยุดงาน เลย์ออฟพนักงานที่จะตามมาเพิ่มขึ้น 

 

ขอเวฟดอกเบี้ย-เงินต้น 

 

สทท.จึงต้องการเรียกร้องออกมาตรการสนับสนุน 5 เรื่องหลัก ได้แก่ เรื่องที่ 1 ขอให้รัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนให้สถาบันการเงินทั้งของภาครัฐและเอกชนขอให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวหยุดชำระค่าดอกเบี้ยพร้อมเงินต้น เป็นเวลา 6 เดือน-1 ปี เพราะขณะนี้การช่วยเหลือของสถาบันการเงินหลายแห่งที่ออกมา จะให้แค่เพียงพักชำระเงินต้นเท่านั้น 

 

เฉลี่ยแล้วผู้ประกอบการ 1 ราย ต่างมีภาระต้องผ่อนชำระหนี้แบงก์คิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้ และหนักๆ จะเป็นการจ่ายดอกเบี้ย ที่สูงกว่าเงินต้นมาก ท่ามกลางธุรกิจหายไป เงินไม่เข้า แต่ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงอยู่ ธุรกิจก็ไปไม่ได้เช่นกัน

 

ผ่อนผันประกันสังคม

 

เรื่องที่ 2 ขอให้ผ่อนผันการชำระภาษีรายได้ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ ออกไปเป็นเวลา 1 ปี

 

เรื่องที่ 3 ขอให้ผ่อนผันการจ่ายเงินประกันสังคมทั้งของผู้ประกอบการและพนักงาน ออกไปเป็นเวลา 1 ปี

 

เรื่องที่ 4 ขอให้จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่า(ซอฟต์โลน) ที่สามารถเข้าถึงได้จริง วงเงิน1แสนล้านบาท

 

ที่ผ่านมาทุกครั้งที่ท่องเที่ยวได้รับผลกระทบในทุกวิกฤต รัฐบาลจะสนับสนุนซอฟต์โลน อย่างของเอสเอ็มอีแบงก์ แต่ในทางปฏิบัติผู้ประกอบการท่องเที่ยวกู้ได้ 2-3% เท่านั้น เนื่องจากติดล็อกข้อบังคับและหลักเกณฑ์ต่างๆที่พ่วงมาด้วย โดยส่วนใหญ่ติดปัญหาเรื่องงบการเงิน กำหนดว่าต้องไม่ขาดทุนเกิน 3 ปี ไม่มีหลักทรัพย์ เคยเป็นหนี้เสีย(เอ็นพีแอล)มาก่อนเป็นต้น ทำให้ทุกวันนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็กู้ยากอยู่แล้ว ยิ่งมามีผลกระทบทางธุรกิจจากไวรัสโคโรนา ยิ่งเป็นความเสี่ยงทำให้กู้เงินยากขึ้นไปอีก ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชน ก็มีการหารือว่าอยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีการจัดตั้งธนาคารการท่องเที่ยวขึ้นโดยเฉพาะ และสทท.ก็อยากเรียกร้องให้รัฐบาลมองถึงความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ 

 

ทำประกันทัวริสต์

 

ส่วนเรื่องที่ 5 สทท.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวให้กลับมาเร็วที่สุด โดยการสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ สทท.อยากเรียกร้องให้มีการทำประกันให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยเหมือนตอนโรคซาร์สระบาด 

 

รวมไปถึงการใช้เงินจากกองทุนช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ที่ปัจจุบันมีเงินอยู่ร่วม 4 หมื่นล้านบาท แบ่งส่วนหนึ่งมาทำประกัน หรือนำมาช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สนับสนุนการจัดแพ็กเกจ หรือสนับสนุนผู้ประกอบการต่างๆในการจัดโปรโมชันเพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยโดยเน้นหาตลาดใหม่ มาทดแทนการชะลอตัวของจีน

60,000ราย ท่องเที่ยวอ่วม  แรงงาน4ล้านคนระสํ่า

 

 

 

บูมแกรนด์เซล

 

อีกทั้งยังต้องกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทย โดยเสนอให้จัดงานอะเมซิ่ง ไทยแลนด์ แกรนด์เซลทั่วประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการท่องเที่ยวพร้อมสามัคคีกันลดราคาอยู่แล้ว พร้อมๆกับการสร้างจิตสำนึกให้คนไทยช่วยไทย แทนไปเที่ยวต่างประเทศ

 

นอกจากนี้ยังมีข้อเรียกร้องจากภาคเอกชนท่องเที่ยวในกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มร้านค้า ธุรกิจร้านอาหาร ขอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการห้ามขายแอลกอฮอล์ในช่วง 14.00-17.00น.เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนผู้ประกอบการรถบัสนำเที่ยว ซึ่งขณะนี้กระทบกว่า 70-80% ก็อยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้ข้าราชการของหน่วยงานต่างๆ ใช้บริการรถบัสนำข้าราชการมาทำงานในกรุงเทพ แทนขับรถของตัวเองมาทำงาน เพราะไม่ใช่แค่ช่วยลดปัญหา PM2.5 แต่ยังทำให้ผู้ประกอบการรถบัสมีงานทำด้วย

 

ชงใช้งบกลาง 500 ล.

 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวว่า การกระตุ้นตลาดเร่งด่วนในช่วงเดือนก.พ.-เมย.นี้ ทางกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จะขอใช้งบกลาง 500 ล้านบาท เพื่อดำเนินการใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่

 

1.การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว 2.การเพิ่มวันพักเฉลี่ย ในการเดินทางมาเที่ยวในประเทศของคนไทย และ3.การเพิ่มความถี่ในการเดินทางเที่ยวในประเทศของคนไทย

 

ในส่วนการช่วยเหลือธุรกิจสายการบิน นายวิชัย บุญยู้ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. กล่าวว่าตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์-26 มีนาคม2563 ทั้ง 6 สนามบินของทอท.จะให้อินเซนทีฟแก่สายการบินที่แจ้งยกเลิกตารางบินล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนบิน ซึ่งหากมีสายการบินอื่นประสงค์เข้ามาบินแทน สายการบินที่มีการยกเลิกเที่ยวบินไป จะได้รับเงินสนับสนุนจากทอท.200บาทต่อผู้โดยสาร 1 คน

 

ขณะที่สายการบินที่เข้ามาบินทดแทนซึ่งสงวนสิทธิ์ไว้สำหรับเที่ยวบินเช่าเหมาลำ และเอ็กซ์ตราไฟลต์ (สายการบินประจำที่เพิ่มเที่ยวบิน) จะได้ลดค่าบริการขึ้นลงอากาศยาน (แลนดิง) ในอัตรา50% เนื่องจากเป็นการช่วยเหลือสายการบินที่ได้รับผลกระทบ จากการยกเลิกเที่ยวบินที่เกิดขึ้น 

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3546 วันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2563