กนง.ลดดอกเบี้ยเหลือ 1.00% ต่อปี ต่ำสุดในประวัติศาสตร์

05 ก.พ. 2563 | 07:06 น.

3 ปัจจัยหนุน บอร์ดกนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลงแตะ1.00% ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดในการดำเนินนโยบายการเงินไทย ธปท.ส่งสัญญานหากลไกช่วยลูกหนี้ 2 กลุ่มทั้งก่อนและหลังเป็นเอ็นพีแอล

เมื่อวันที่ 5กุมภาพันธ์2563 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งที่ 1/2563 โดยระบุว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.00%(ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดของการดำเนินนโยบายของไทย )จากเดิมที่1.25%และ มีผลตั้งแต่วันนี้ (5ก.พ.2563) เป็นต้นไป โดย 3 ปัจจัยที่สนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินครั้งนี้คือ 1.เศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นมาก 2. การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 3.ความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง 

ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส

ทั้งนี้การประชุมของบอร์ดกนง.ก่อนหน้ารับรู้ปัจจัยภัยแล้งกันแล้ว แต่ขณะนี้ภาวะภัยแล้งอาจรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้และความล่าช้าของงบประมาณประจำปี มีความยืดเยื้อไม่แน่นอนสูง ขณะที่จะต้องติดตามการแพร่กระจายของไวรัสในจีนจะกินเวลานานหรือแพร่กระจายต่อภูมิภาคหรือเศรษฐกิจและการส่งออกคู่ค้า/ห่วงโซ่การผลิตต่อภูมิภาคและไทยอย่างไร ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีความไม่แน่นอน ดังนั้นในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประสานมาตรการทั้งทางการเงินและการคลัง คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลชัดเจนขึ้น จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ 

"สภาวะแบบนี้ สภาพคล่องสำคัญกว่าราคาซึ่งตอนนี้ก็มีอยู่หลายมาตรการทั้งนโยบายคลังและนโยบายการเงินเพื่อช่วยคนที่ก่อนเป็นเอ็นพีแอลและหลังเอ็นพีแอลต้องหากลไกช่วยทั้ง 2 กลุ่ม โดยเฉพาะหัวใจของการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ คือ สภาพคล่องต้องเพียงพอและทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เกิดขึ้นได้"

 

นอกจากนั้น การบริโภคภาคเอกชนยังได้รับแรงกดดันจากรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้น ทั้งครัวเรือนในภาคบริการ เกษตร และอุตสาหกรรม รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยยังมีความไม่แน่นอนสูง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 และปี 2564 มีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงราคาพลังงานต่ำกว่าคาดเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มลดลงจากการระบาดของไวรัสโคโรนา แม้อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดจะปรับเพิ่มขึ้นบ้างจากภัยแล้ง ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง แต่สินเชื่อภาคธุรกิจมีแนวโน้มชะลอลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน แม้ว่าเงินบาทอ่อนค่าลงบ้างเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง แต่ยังอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย และมีแนวโน้มผันผวน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านต่างประเทศที่มีอยู่สูง รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออก และสนับสนุนให้ ธปท. ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระบบการเงินโดยรวมมีความเปราะบางมากขึ้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวโดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการการเงินการคลังต่าง ๆ ที่ภาครัฐและ ธปท. ได้เร่งดำเนินการเป็นการช่วยเหลือที่ตรงจุด 

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ จะติดตามประสิทธิผลของมาตรการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามพฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ และการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันในจังหวะที่เหมาะสม 

 

ทั้งนี้คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม รวมทั้งจะติดตามปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน