ฟาร์มสุกรแบ่งปันน้ำช่วยเกษตรกรรับมือภัยแล้ง

05 ก.พ. 2563 | 04:58 น.

ฟาร์มสุกรแบ่งปันน้ำช่วยเกษตรกรรับมือภัยแล้งหลังเสียงสะท้อนจากเกษตรกรหลายพื้นที่ ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใช้ในการเพาะปลูก

 

 

 

นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด ( มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวถึงโครงการ "ปันน้ำปุ๋ยให้ชุมชน"ว่าเพื่อช่วยลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำของชุมชนและเกษตรกรรอบฟาร์มและโรงงาน ซึ่งน้ำปุ๋ยจากฟาร์มที่ปันให้แก่เกษตรกร เป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพและได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด มีธาตุอาหารที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืช ทั้งโพแทสเซียม ไนไตรโจน ฟอสฟอรัส เกษตรกรหลายรายลดการใช้จนถึงเลิกใช้สารเคมีในการเพาะปลูก นำมาสู่การผลิตอาหารที่ปลอดภัย

ปัจจุบันฟาร์มสุกรของซีพีเอฟ จำนวน 96 แห่งทั่วประเทศ ดำเนินตามมาตรฐานฟาร์มสีเขียวเต็มรูปแบบ ใช้ระบบไบโอแก๊ส 100% ล่าสุดช่วยเหลือชุมชนอย่างต่อเนื่องโดยปันน้ำที่บำบัดแล้วให้เกษตรกรนำไปใช้ในการเกษตร ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยและค่าน้ำของเกษตรกร โดยเฉพาะในช่วงที่มีวิกฤติภัยแล้ง น้ำปุ๋ยจากฟาร์มช่วยบรรเทาผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำให้แก่เกษตรกรได้ โดยในปี 2561 ปันน้ำให้ชุมชนรอบฟาร์มสุกรแล้วกว่า 380,000 ลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกรวมมากกว่า 3,600 ไร่ต่อปี ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยให้แก่เกษตรกรรวมเกือบ 2 ล้านบาท เช่นเดียวกันในปี 2562 ที่สามารถปันน้ำปุ๋ยให้แก่เกษตรได้อย่างต่อเนื่อง

ฟาร์มสุกรแบ่งปันน้ำช่วยเกษตรกรรับมือภัยแล้ง

ด้านนายฉลอง สมปอง วัย 55 ปี เกษตรกรรายหนึ่งที่ขอรับปันน้ำปุ๋ยในโครงการ "ปันน้ำปุ๋ยให้ชุมชน " จากฟาร์มสุกรของซีพีเอฟ โดยมีแปลงปลูกไผ่กิมซุง 4 ไร่ อยู่ติดฟาร์มสุรินทร์ของซีพีเอฟ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.โคกสะอาด อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ขอรับปันน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรของซีพีเอฟมาเกือบ 2 ปีแล้ว นอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าน้ำ และค่าปุ๋ยลง 50 % แล้ว น้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรซึ่งมีธาตุอาหารที่เหมาะสมต่อพืช ช่วยให้ผลผลิตหน่อไม้หน่อใหญ่และสวย ขายได้ง่าย ทำให้ปีที่ผ่านมามีรายได้จากการขายผลผลิตหน่อไม้ประมาณ 150,000 บาท

ฟาร์มสุกรแบ่งปันน้ำช่วยเกษตรกรรับมือภัยแล้ง

ขณะที่นายอำนาจ จงศุภวิศาลกิจ เกษตรกรในพื้นที่ ต.บ่อพลอย อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า พื้นที่เพาะปลูกอ้อยและไร่ข้าวโพดของตนอยู่ติดฟาร์มอุดมสุขของซีพีเอฟ และขอรับปันน้ำจากฟาร์มมาใช้รดไร่อ้อยและไร่ข้าวโพด เช่นเดียวกับเกษตรกรรายอื่นๆ อีกมากกว่า 10 รายที่อาศัยรอบฟาร์ม โดยต่อท่อจากบ่อบำบัดน้ำของฟาร์มไปยังแปลงเกษตรโดยตรง และต่อท่อไปยังบ่อพักน้ำของเกษตรกร ช่วยลดต้นทุนค่าน้ำและค่าปุ๋ยได้เป็นอย่างมาก

ฟาร์มสุกรแบ่งปันน้ำช่วยเกษตรกรรับมือภัยแล้ง