กูรูฟันธง! กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%

04 ก.พ. 2563 | 11:18 น.

จับตาการประชุม กนง. 5 ก.พ. กูรูฟันธง กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% “กสิกรไทย-ทีเอ็มบี” จี้แบงก์รับลูก ลดเอ็มแอลอาร์ เพื่อดูแลภาคธุรกิจ แม้ไม่แก้ปัญหาภาคท่องเที่ยว แต่บรรเทาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีภาระหนี้ ประเมินนโยบายการเงินไทย มีโอกาสเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ถ้าดอกเบี้ยนโยบายแตะ 1.00%

ท่ามกลางปัจจัยลบต่อเสรษฐกิจไทยทั้งปัจจัยเดิมๆคือ แนวโน้มความรุนแรงในตะวันออกกลาง  ,ผลเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ตามด้วยภัยแล้งในประเทศ  บวกกับความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ล่าสุดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา กดดันให้สำนักวิจัยส่งสัญญาณปรับประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)ของปี 2563 ลง และประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งแรกของปี วันที่ 5 กุมภาพันธ์ กนง.มีโอกาสจะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย(R/P)ลง 0.25% ขณะที่บางค่ายเสนอปรับลด 0.50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.25%ต่อปี

นายเชาว์  เก่งชน  กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัย กสิกรไทยเปิดเผยว่า กนง.คงจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพราะเศรษฐกิจไทยถูกกระทบจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ซึ่งสถานการณ์ของเชื้อไวรัสกินเวลานานออกไป นอกจากตอนนี้ที่กระทบภาคท่องเที่ยวของไทยแล้วต่อไปจะขยายไปกระทบซัพพลายเชนการค้าระหว่างไทยและจีน เนื่องจากเวลานี้กรณีที่พบแต่ละวันยังเพิ่มขึ้น แต่การปรับลดอกเบี้ยนโยบายลง แม้จะไม่แก้ปัญหาหรือเปลี่ยนสถานการณ์การท่องเที่ยว แต่อย่างน้อยยังช่วยบรรเทาภาคธุรกิจที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย เพราะภาคท่องเที่ยวยังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)แต่เป็นการดูแลภาคธุรกิจได้ระดับหนึ่ง

กูรูฟันธง! กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%

“กนง. น่าจะปรับลดดอกเบี้ย 0.25% เพื่อรอดูเหตุการณ์ก่อน ที่สำคัญธนาคารพาณิชย์ต้องรับลูกลดดอกเบี้ยตามหรือขอความร่วมมือ ซึ่งหากดอกเบี้ยนโยบายคงเหลือ 1.00%ซึ่งจะเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของดอกเบี้ยไทย  จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.25%ต่อปีถือว่าต่ำสุดตั้งแต่ไทยใช้นโยบายการเงินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเมื่อปี 2543 แต่หากเศรษฐกิจแย่กว่านี้แรงกดดันจะมาลงกับธปท.ซึ่งอาจจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกก็ได้”

นายนริศ  สถาผลเดชา  เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ธนาคาร ทหารไทย หรือ TMB Analytics กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ประกาศปรับลดลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเบิกเกินบัญชี (MOR) หรือ อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) เพื่อดูแลประชาชนกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัย  รถยนต์ และเอสเอ็มอีบางส่วนแต่ยังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีกส่วนหนึ่งที่ใช้อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีแบบมีระยะเวลา(MLR)อยู่ด้วย ดังนั้ จึงมีความจำเป็นที่กนง.กับธนาคารพาณิชย์ต้องช่วยกันปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง  คาดว่า กนง.มีโอกาสจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ภายในไตรมาส 1 ปีนี้ (หากไม่ลดในรอบวันที่ 5 ก.พ.ก็จะลดในรอบวันที่ 25มี.ค.) ซึ่งจะต้องส่งผ่านให้ธนาคารในระบบปรับลดดอกเบี้ย MLR , MOR,และMRR เพื่อที่จะลดภาระรายจ่ายดอกเบี้ย สำหรับผู้ประกอบการหรือภาคธุรกิจซึ่งประสบปัญหา โดยเฉพาะการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดหรือรับผลแบบนี้

กูรูฟันธง! กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%

“ถ้ากนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายแล้ว หากส่งผ่านให้แบงก์ปรับลดดอกเบี้ยเต็มวงเงินก็จะช่วยภาคธุรกิจอีกแรง  ดังนั้นต้องจับตาแบงก์จะปรับลดดอกเบี้ยเต็มจำนวน 0.25% ตามกนง.ลดด้วย   ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยMLR ปฎิเสธไม่ได้ว่าไม่กระทบการทำกำไรแบงก์   แต่ข้อดีปีนี้แบงก์สามารถประหยัดการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จากการที่ธปท.ประกาศให้แบงก์สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยตั้งสำรองฯแค่ 12เดือนข้างหน้าตาม Stage1 โดยไม่ต้องกันสำรองตลอดอายุสัญญาตาม Stage2 นอกจากนี้ธปท.ได้ดำเนินนโยบานโยการเงินอย่างเต็มที่แล้วโดยผ่านมาตรการแม็คโครโพรเดนเชียลในช่วงที่ผ่านมา”

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า ซีไอเอ็มบีไทยได้ปรับลดประมาณการจีดีพีจาก 2.7% เหลือ 2.4% เนื่องจากเกิดภาพกลับข้างของ 3 ปัจจัยที่กลายเป็นความเสี่ยงเศรษฐกิจทั้งต่างชาติชะลอการลงทุน ความล่าช้าของงบประมาณปี63 ซึ่งกระทบเบิกจ่ายและการลงทุนภาครัฐอาจติดลบ บวกการระบาดของเชื้อไวรัสจากจีนและมีผู้ติดเชื้อหลายประเทศรวมทั้งไทยจึงมีโอกาสที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะติดลบในครึ่งปีแรก  ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะขยายตัวต่ำกว่า 2% ในครึ่งปีแรก แต่เป็นผลชั่วคราวราว 2 ไตรมาสและน่าจะฟื้นตัวได้เร็ว จากนั้นครึ่งปีหลังน่าจะขยายตัวได้เหนือ 3% และเมื่อนโยบายการคลังไม่สามารถนำมาใช้กระตุ้น ทางกนง.น่าจะลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.50%สู่ระดับ 0.75%ต่อปีโดยเริ่มลดในรอบการประชุมวันที่ 5ก.พ.นี้

กูรูฟันธง! กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%

นอกจากลดดอกเบี้ย ปล่อยเงินบาทให้อ่อนในการประคองเศรษฐกิจแล้ว ซีไอเอ็มบีไทยยังระบุว่า สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนไทยและนักท่องเที่ยวว่ารัฐบาลไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ แม้อาจต้องสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวบ้างในระยะสั้น แต่ก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นและทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็ว  หรือ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวหาตลาดใหม่ หรือส่งเสริมให้คนไทยมาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น  ขณะที่ภาคเกษตรและปัญหากำลังซื้อในภาคชนบทที่อ่อนแอนั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวที่น่าจะได้รับการดูแลควบคู่ไปกับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ สุดท้ายในระยะสั้น น่าจะต้องพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของภาคเอกชน เตรียมรับมือการแข่งขันด้านการส่งออกอีกรอบในช่วงครึ่งหลังของปีเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้น สงครามการค้าคลี่คลาย