กสิกรไทยรุกหนักดิจิทัล  ปูพรม Regional Bank

06 ก.พ. 2563 | 23:40 น.

บมจ.ธนาคารกสิกรไทย ประกาศความสำเร็จในการผลักดัน K-Plus ซึ่งเป็น Application ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 50% สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของไทย ขณะที่การจัดตั้งบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ปฯ (KBTG)เพื่อเป็นหัวหอกในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินและสร้างวัฒนธรรมที่ต่างไปจากเดิม พร้อมกำหนดเป้าหมายที่จะเป็น Regional Bank มุ่งตอบโจทย์ทางการเงินในทุกจังหวะชีวิตและภาคธุรกิจ โดยเชื่อมโยงทุกช่องทางบริการบนการบริหารความเสี่ยง เพื่อก้าวไปสู่ธนาคารระดับภูมิภาคภายใต้สโลแกนลูกค้าไปที่ไหนกสิกรไทยไปด้วยโดยใช้ Data ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ความรับผิดชอบและให้ความสำคัญกับ Cyber Risk

ล่าสุดเรืองโรจน์ พูนผลประธาน KBTG เปิดเผยถึงกลยุทธ์และทิศทางของบริษัทในปีนี้ว่า  ปัจจุบัน KBTG มีบริษัทลูก 7 แห่ง

1. บริษัทกสิกร เทคโนโลยี กรุ๊ป เซเครเทเรียต จำกัด ทำหน้าที่วางแผนและติดตามการทำงานของบริษัทในกลุ่ม KBTG สนับสนุนจัดหาด้านการเงินและบุคลากรของกลุ่มบริษัท ประสานการทำงานร่วมกัน(Alignment)ระหว่างกลุ่มบริษัทและธนาคาร 2. บริษัทกสิกร แล็บส์ จำกัด ค้นคว้าเทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อระบบธนาคารดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัล สร้างและทดลองระบบต้นแบบก่อนประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ของธนาคาร 3. บริษัทกสิกร ซอฟต์ จำกัด ออกแบบและสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อรองรับความต้องการทางธุรกิจของธนาคารและรองรับการนำนวัตกรรมมาใช้ให้มีความรวดเร็วและคุณภาพสูงสุด

4.บริษัทกสิกร โปร จำกัด บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคาร ทั้งที่สร้างขึ้นใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนดูแลรักษาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความทันสมัย และมีประสิทธิภาพตลอดเวลา 5.บริษัทกสิกร เซิร์ฟ จำกัด สนับสนุนการทำงานของกลุ่มบริษัท ทั้งการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทดสอบและปฏิบัติการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และ 6.บีคอน อินเตอร์เฟส บริษัทที่ธนาคารให้การสนับสนุน เพื่อร่วมกันพัฒนาแอพ K PLUS Beacon

ล่าสุดคือ KASIKORN-X หรือ KX และในอนาคตอีก 3-5 ปี KX จะต้องเป็น Financial 
Platform คือ สร้างแพลตฟอร์มหรือโมเดลธุรกิจใหม่ ซึ่งประมาณไตรมาส 4 ปีนี้น่าจะมีผลงานออกสู่ตลาดโปรดักต์แรก โดยแนวทางการทำตลาดของ KX ต้องขยายฐานลูกค้าใหม่เป็นกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง ซึ่งอาจจะใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้าของธนาคารกสิกรไทยเพียงบางส่วนเท่านั้น

เรืองโรจน์ พูนผล

 

 

 

 

ทั้งนี้ KX จะทำหน้าที่เป็น New S-Curve Factory โดยมีพันธกิจหลักคือ สร้าง ฟินเทคยูนิคอร์น บริษัทแรกของไทยด้วยโมเดลธุรกิจแบบสุดโต่ง เพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ ให้กับกลุ่มธุรกิจทางการเงินของกสิกรไทย

ดังนั้นการสร้างฟินเทค ยูนิคอร์น จึงเป็นความพยายามที่จะไปให้ถึง โดยเฉลี่ยประมาณ 7 ปี คือเป็นมิสชันระยะยาว ที่สำคัญฟินเทคยูนิคอร์นของโลกอยู่ในจีนถึง 25% ซึ่งฟินเทคในจีนจะพัฒนามาก จึงเป็นเหตุผลหนึ่งของการเข้าไปตั้งบริษัท ไคไต้ เทคโนโลยี จำกัด หรือ ไคไต้เทค(KAITAI-Tech) โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม สนับสนุนบริการของธนาคาร กสิกรไทยในจีนคือ เคแบงก์ไชน่า ที่เหลือก็ Access เทคโนโลยี ถ้ามีเหลือก็มาเสิร์ฟลูกค้ากสิกรไทยในเมืองไทยด้วยแต่ในหลักการมองถึงการให้บริการลูกค้าได้ครอบคลุมทั่วภูมิภาค

บริษัท ไคไต้เทคฯ จะอยู่ภายใต้เคแบงก์ไชน่า ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายทางการจีน ซึ่งรูปแบบโมเดลธุรกิจหลักๆ ที่เราจะพัฒนานั้นเป็นประเภท Payment, Fee และ Lending ซึ่งท้ายที่สุดจะต้องตอบโจทย์ธุรกิจหลัก ของแบงก์และอยู่ในกรอบกฎหมายเดียวกันโดยที่ต้องได้รับการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ด้วย

 

ทั้งนี้ปัจจุบัน ธนาคารกสิกรไทย มีเครือข่ายบริการ 14 แห่งในภูมิภาค ทั้งในรูปแบบสำนักงานผู้แทน สาขาและธนาคารท้องถิ่น รวมถึงการสร้างพันธมิตรธนาคารในภูมิภาค และภายในปี 2563 คาดว่า จะมีความคืบหน้าในการจัดตั้งสาขาในอีก 3 ประเทศคือ อินโดนีเซีย เมียนมา และเวียดนาม ซึ่่งในอินโดนีเซียนั้น มีโอกาสที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในธนาคารแมสเปี้ยน (Maspian) จากปัจจุบันกสิกรไทยถือหุ้นสัดส่วน 9.9%ใน Maspian ซึ่งภายใต้สัญญาเดิม เปิดให้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นได้ถึง 30-40% แต่ไม่เกิน 50% อยู่แล้ว

นอกจากนั้นธนาคารกสิกรไทย ยังมีความสนใจที่จะเข้าไปดำเนินธุรกิจในเมียนมาทั้ง 3 รูปแบบคือ 1.จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ (Subsidiary) 2. จัดตั้งสาขาต่างประเทศของธนาคารกสิกรไทยในเมียนมา (Foreign Bank Branch) 3. การเข้าร่วมลงทุนในธนาคารท้องถิ่นในประเทศเมียนมา (Equity Participation) โดยล่าสุดอยู่ในขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้การเข้าถือหุ้นในธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ แบงก์ หรือ A-Bank ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และธปท. ขณะเดียวกันยังมีเป้าหมายที่จะร่วมกับสตาร์ตอัพในเวียดนามเพื่อพัฒนาบริการทางการเงินด้วย

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,546 วันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2563