กลุ่มวังโตนดประเดิมเจ้าแรกเซ็น MOU ปันน้ำป้อนอีอีซี

04 ก.พ. 2563 | 08:45 น.

สทนช.ปลื้ม ความร่วมมือเกษตรกร-รัฐ-เอกชน ปันน้ำคลองวังโตนด จันทบุรี ช่วยอ่างฯประแสร์ ระยอง 10 ล้านลูกบาศก์เมตร เสริมน้ำภาคการผลิตในจังหวัดระยองและพื้นที่ใกล้เคียง

 

กลุ่มวังโตนดประเดิมเจ้าแรกเซ็น MOU ปันน้ำป้อนอีอีซี

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก และร่วมงาน MOU การดำเนินการแบ่งปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด จังหวัดจันทบุรี ให้แก่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง ณ ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี (หลังใหม่) อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี ว่า ที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้ เกิดจากการคาดการณ์ปริมาณฝนในประเทศไทยระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 ที่อาจมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยและฝนจะมาล่าช้ากว่าปกติ

กลุ่มวังโตนดประเดิมเจ้าแรกเซ็น MOU ปันน้ำป้อนอีอีซี

ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก (จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง) เป็นพื้นที่ที่ต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นพื้นที่สำคัญของประเทศที่มีความต้องการใช้น้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเกษตรกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ทำให้หลายฝ่ายมีความห่วงใยว่าปริมาณน้ำต้นทุนในแต่ละพื้นที่อาจมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตลอดฤดูแล้ง 

กลุ่มวังโตนดประเดิมเจ้าแรกเซ็น MOU ปันน้ำป้อนอีอีซี

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะเป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ จึงได้ลงพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อเป็นแกนกลางในการร่วมประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งกรมชลประทาน คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ดำเนินการในลักษณะของโครงข่ายน้ำเชื่อมโยงกัน โดยใช้น้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง จัดสรรน้ำไปให้อ่างเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำดอกกราย และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ที่มีการใช้น้ำวันละ 1.12 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ต้องมีการสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ มาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

กลุ่มวังโตนดประเดิมเจ้าแรกเซ็น MOU ปันน้ำป้อนอีอีซี

คาดว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำประแสร์จะเหลือต่ำกว่าปริมาณน้ำเก็บกักต่ำสุด (Dead Storage) ในเดือนเมษายนนี้ และไม่สามารถหาน้ำจากแหล่งอื่นมาเพิ่มได้อีก  ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด  ปัจจุบันมีปริมาณในอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 49.62 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจากการคำนวณปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีปริมาณเพียงพอสำหรับส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์โดยรอบจนสิ้นสุดฤดูแล้งในปลายเดือนพฤษภาคม 2563 และยังมีปริมาณน้ำที่เหลือที่สามารถระบายลงคลองวังโตนด และเดินเครื่องสูบที่สถานีสูบน้ำคลองวังโตนดผันน้ำมาลงอ่างเก็บน้ำประแสร์ได้อีก จากเดิมที่เคยระบายอยู่ที่วันละ 180,000 ลูกบาศก์เมตร  เป็นระบายเพิ่มขึ้นอีกวันละ 460,000  ลูกบาศก์เมตร รวมระบายทั้งสิ้นวันละ 648,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อเป็นปริมาณน้ำต้นทุนช่วยเหลือพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ตลอดฤดูแล้งปีนี้

กลุ่มวังโตนดประเดิมเจ้าแรกเซ็น MOU ปันน้ำป้อนอีอีซี

จากการพูดคุยของทุกฝ่ายร่วมกัน โดยมีการนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้านในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการใช้น้ำต่าง ๆ  เพื่อเป็นการหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน จนได้ข้อสรุปที่ตกผลึกและนำมาซึ่งการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ระหว่างกรมชลประทานและคณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาคลองวังโตนดในวันนี้  เพื่อเป็นการแบ่งปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด จังหวัดจันทบุรี ให้แก่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง เป็นการเฉพาะกิจ ในปริมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร”

กลุ่มวังโตนดประเดิมเจ้าแรกเซ็น MOU ปันน้ำป้อนอีอีซี

โดยใช้ระบบสูบน้ำสถานีสูบน้ำคลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ซึ่งต้องไม่เกิดผลกระทบการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำวังโตนด ทั้งนี้หากเกิดผลกระทบจะให้หยุดสูบผันน้ำทันที และเพื่อเป็นการขอบคุณความมีน้ำใจของชาวลุ่มน้ำสาขาคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมจัดกิจกรรม CSR คืนกลับสู่ลุ่มน้ำสาขาคลองวังโตนด เป็นการร่วมพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวมอีกด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

กลุ่มวังโตนดประเดิมเจ้าแรกเซ็น MOU ปันน้ำป้อนอีอีซี

ด้าน ผศ.ดร.เจริญ ปิยารมย์ ประธานคณะทำงานลุ่มน้ำคลองวังโตนด กล่าวว่า น้ำ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อทุกภาคส่วน แม้ว่าแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีจะมีไม่มากนัก แต่ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำวังโตนด โดยเฉพาะปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำประแกด เมื่อคำนวณแล้วมีเพียงพอสำหรับใช้ในพื้นที่ และเหลือพอที่จะปันน้ำไปให้กับผู้ที่ต้องการ ก็จะเป็นคุณประโยชน์อย่างดียิ่ง และจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม โดยใช้วิธีการปันน้ำ ซึ่งจะมีคุณค่ามากในแง่ของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะปันให้กับผู้ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนและมีความต้องการใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งภาครัฐก็ได้ให้ความช่วยเหลือคนเมืองจันท์มาโดยตลอด เราก็ระลึกเสมอ และพร้อมให้ความช่วยเหลือเมื่อเราพร้อม เพื่อเป็นการตอบแทน

กลุ่มวังโตนดประเดิมเจ้าแรกเซ็น MOU ปันน้ำป้อนอีอีซี

แผนการปฎิบัติการแบ่งปันน้ำช่วงวันที่ 1-25 มีนาคม 2563 จะมีการจัดทำ CSR กลับคืนสู่สังคม ภาคเอกชนจะจ่ายให้คณะกรรมการลุ่มน้ำในรูปแบบโครงการ ลูกบาศก์เมตรละ 50 สตางค์ ตามปริมาณน้ำที่แบ่งปันจำนวน 10 ล้านลูกบาศก์เมตร วงเงิน 5 ล้านบาท เพื่อพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนด

กลุ่มวังโตนดประเดิมเจ้าแรกเซ็น MOU ปันน้ำป้อนอีอีซี

นอกจากนี้ เลขาธิการ สทนช. ได้ร่วมพิธีปิดโครงการจัดทำแผนหลักการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำจันทบุรี ณ โรงแรมนิว แทรเวิล ลอดจ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำจันทบุรีเป็นพื้นที่ผังน้ำตัวอย่าง โดยได้มีการจัดประชุมปฐมนิเทศและปัจฉิมนิเทศเพื่อรับฟังความคิดเห็นไปแล้วจำนวน 2 ครั้ง และได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ผังน้ำตัวอย่าง ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำจันทบุรีอีกจำนวน 3 ครั้ง ซึ่งหลังจากนี้ สทนช. จะนำผลการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน ตัวแทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปปรับปรุงรายงานการศึกษาให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การบูรณาการจัดทำผังน้ำ ที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศอย่างแท้จริง

กลุ่มวังโตนดประเดิมเจ้าแรกเซ็น MOU ปันน้ำป้อนอีอีซี

ด้านนายไพฑูรย์ เก่งการช่าง ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการลุ่มน้ำ 3 กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่มีการแบ่งปันน้ำข้ามลุ่มน้ำ ซึ่งรัฐบาลมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้ในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งในปีนี้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึง 50% หรือประมาณ 700 มิลลิเมตร ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำประแสร์ซี่งเป็นจุดใหญ่ในการกระจายน้ำส่งต่อไปยังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เพื่อช่วยภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการผลิตน้ำประปา อาจมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำในช่วงปลายเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2563 จึงได้มอบหมายให้ สทนช. กรมชลประทาน และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สำนักงาน EEC) ร่วมพูดคุยกับชาวบ้านในเขตลุ่มน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ในการแบ่งปันน้ำจากจังหวัดจันทบุรี