เสียบบัตรแทนกันหนีไม่พ้นโทษอาญา

03 ก.พ. 2563 | 09:24 น.

ประธานวุฒิสภาชี้ 2 แนวทางวินิจฉัย“พรบ.งบ63” ของศาลรธน. ”  โมฆะถูกตีตกทั้งฉบับ-กระบวนการไม่ชอบด้วยก.ม. แต่อาจไม่ตีตกทั้งฉบับ” ยันส.ส.เสียบบัตรแทนกันหนีไม่พ้นโทษคดีอาญา

 


นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงร่างพระ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ไม่ทราบว่าจะมีความเป็นไปได้ที่ร่างพระราชบัญญัติจะถูกตีตกทั้งฉบับหรือไม่ ต้องดูการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 


อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าแนวทางการวินิจฉัยเป็นไปได้ 2 แนวทาง คือ 1.ศาลเห็นว่ากระบวนการออกกฎหมายไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วทำให้ร่างกฎหมายต้องถูกตีตกไปทั้งฉบับ 
หรือ 2.กระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่อาจไม่ตีตกทั้งฉบับ ขึ้นอยู่กับศาลจะเห็นว่ากระบวนการนี้กระทบต่อเนื้อหาสาระของร่างกฏหมายหรือไม่  

“ขออย่าเดาผลการวินิจฉัย แต่ที่ผิดแน่นอนอยู่แล้ว คือ การเสียบบัตรแทนกันนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายอย่างแน่นอน ทั้งโทษทางวินัยและทางอาญา” นายพรเพชร ระบุ

 

 

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เข้ายื่นคำร้องเพื่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบเอาผิด ส.ส.พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จากกรณี นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ และ นางนาที รัชกิจประการ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ไม่อยู่ในห้องประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ 2563


แต่ปรากฏมีชื่อเป็นผู้ลงคะแนนเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระ 2 และ 3  ตามที่ นายนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคและอดีตส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ นำมาเปิดเผยต่อสาธารณชน

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เนื่องจากต้นเหตุของปัญหาเกิดขึ้นจากกรณีของนายฉลอง ที่เดินทางไปร่วมกิจกรรมวันเด็ก จ.พัทลุง ในวันที่มีการลงคะแนนเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว และนางนาที ก็ปรากฏภาพถ่ายอยู่ที่ประเทศจีน แต่บุคคลทั้ง 2 กลับมีชื่อร่วมลงมติในที่ประชุมสภาเมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมาด้วย


นอกจากนี ยังมีพฤติการณ์เสียบบัตรลงคะแนนแทนกันของ นายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย และ น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ นำบัตรมาเสียบกดลงคะแนนรับร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย ปรากฏตามภาพถ่ายการเสียบบัตรแทนกันที่สื่อมวลชนรายงานอีกด้วย

 

 

พฤติการณ์และการกระทำดังกล่าว จึงอาจเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 185 อันถือได้ว่าเป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของผู้อื่น และอาจเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 และเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในข้อ 7 และข้อ 8 ในประเด็นที่ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน และต้องไม่มีพฤติการณ์รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตําแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ฯลฯ

หากป.ป.ช.วินิจฉัยว่ามีความผิดตามข้อห้ามข้างต้น อาจนำไปสู่การสิ้นสุดลงของตำแหน่งส.ส. ตามมาตรา 101 (7) ของรัฐธรรมนูญ 2560 และอาจมีความผิดตามพ.ร.ป.ว่าด้วยป.ป.ช. มาตรา 28 (1) และมาตรา 30 วรรคแรก ประกอบ มาตรา 172 ได้


จึงต้องมาร้องเรียนให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อไป