สศอ.ยันสหรัฐตัด GSP ไม่กระทบส่งออก

02 ก.พ. 2563 | 10:21 น.

สศอ. ยัน การถูกระงับสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) ไม่ส่งผลกระทบต่อ การส่งออกภาพรวม ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ยืนยันมูลค่าการส่งออกปี 2563 ในรูปเงินเหรียญสหรัฐจะขยายตัวร้อยละ 2.74 ผลกระทบจากการถูกระงับสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) ในตลาดสหรัฐฯ มีสินค้าที่โดนตัดสิทธิ GSP ในรอบนี้คิดเป็นเพียงประมาณ 0.5% ของการส่งออกรวมของไทยเท่านั้น การบริโภคภาคเอกชนในปี 2563 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2562 จากราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายตัว และแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชน ปี 2563 จะขยายตัวร้อยละ 3.9 การลงทุนภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 5.07 โดยการลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีตามปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ ๆ

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า การส่งออก ในปี 2563 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประมาณการว่าปี 2563 มูลค่าการส่งออกในรูปเงินเหรียญสหรัฐจะขยายตัวร้อยละ 2.74 ทั้งนี้ในประเด็นของผลกระทบจากการถูกระงับสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) ในตลาดสหรัฐฯ นั้น วันที่ 25 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ หากไทยถูกระงับสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) จะส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกที่มีการพึ่งพาสิทธิ GSP แต่ผลกระทบในภาพรวมจะไม่สูง โดยสินค้าที่โดนตัดสิทธิ GSP ในรอบนี้คิดเป็นเพียงประมาณ 0.5% ของการส่งออกรวมของไทย

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและการแข็งค่าที่ต่อเนื่องของเงินบาทจะเป็นปัจจัยที่สำคัญกว่าที่กดดันธุรกิจส่งออก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีศักยภาพในการปรับตัวต่ำ อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่อาจจะได้รับผลกระทบ อาทิ กลุ่มเซรามิก กลุ่มเคมีภัณฑ์ กลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มเหล็ก ภาครัฐเองได้มีการเชิญภาคเอกชนในกลุ่มดังกล่าว มาหารือเพื่อหาแนวทางรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการถูกตัดสิทธิ GSP ซึ่งเป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับการเจรจา กับสหรัฐฯ ในการขอคืนสิทธิ

ในส่วนของการบริโภคภาคเอกชน ในปี 2563 ราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายตัวมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2562 อาทิ ยางพารา ราคายางอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากปัญหาโรคใบร่วงที่ระบาดในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบางพื้นที่ของไทย ทำให้ปริมาณผลผลิตโลกรวมลดลง ราคายางในตลาดโลกจึงอาจปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับมาตรการส่งเสริมอุปสงค์การใช้ยางในประเทศและสัญญาการค้ายางล่วงหน้าที่จะช่วยพยุงราคายางได้ หรือในปาล์มน้ำมันที่ราคาน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลจากมาตรการเพื่อดูดซับอุปทานส่วนเกินผ่านกลไก การสนับสนุนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 ในประเทศ ทำให้ราคาปาล์มมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2562

อีกทั้งยังคงมีปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันปาล์มดิบโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้การส่งออกพืชและผลิตภัณฑ์ในปี 2563 หลายรายการที่คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ลำไยและผลิตภัณฑ์ ทุเรียนและผลิตภัณฑ์ มังคุด เงาะ และผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพดีและเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ

นายทองชัย กล่าวต่อว่า แนวโน้มการลงทุนภาคเอกชน ปี 2563 การลงทุนภาคเอกชน จะขยายตัวร้อยละ 3.9 และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 5.07 โดยการลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีตามปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ได้แก่ (1) การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่ขยายตัวร้อยละ 42.4 ในปี 2561 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนขยายตัวสูงร้อยละ 137.4 ในปี 2561 และร้อยละ 75.1 ในไตรมาสที่สามของปี 2562 โดยมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวน่าจะได้เห็นการลงทุนจริงและมีการก่อสร้างโรงงาน การซื้อเครื่องจักรต่าง ๆ ในปี 2563

(2) ปัจจัยเพิ่มเติมจากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยนักลงทุนบางส่วนได้เริ่มย้ายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทยและมีการลงทุนจริงมากขึ้น รวมทั้งการดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ อาทิ มาตรการรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) และมาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจ นอกจากนี้ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในปี 2562 เงินทุนของการประกอบและขยายกิจการโรงงานมีจำนวน 483,860.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31.47 อุตสาหกรรมที่สำคัญ อาทิ ผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์จาก ปิโตรเลียม ข้อมูลเชิงประจักษ์ดังกล่าวจึงเป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนว่า ในปัจจุบัน นักลงทุนยังคงมีความเชื่อมั่น ต่อประเทศไทย