ชี้ชัด "ฟ้าทะลายโจร" รักษา "ไวรัสโคโรนา" ไม่ได้

01 ก.พ. 2563 | 12:34 น.

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แจง "โรคซาร์ส" คนละสายพันธุ์กับโคโรนาพันธุ์ใหม่" ฟ้าทะลายโจรรักษาไม่ได้

 

นายแพทย์สรรพงษ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าฟ้าทะลายโจร มีฤทธิ์ช่วยต้านการอักเสบในร่างกาย และมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อไวรัส ซึ่งในประเทศจีนมีการศึกษาใช้สารสำคัญที่อยู่ในฟ้าทะลายโจรที่ชื่อว่า "แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide)" ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคซาร์ส แต่เป็นการศึกษาวิจัยหลังจากโรคซาร์สสงบไปแล้ว โดยประเทศจีนมีการจดสิทธิบัตรยาสูตรนี้ว่า สามารถใช้ป้องกันและรักษาโรคซาร์สได้ ถ้ายังจำกันได้โรคซาร์สเป็นไวรัสโคโรนาเหมือนกัน แต่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพียงแค่เป็นคนละสายพันธุ์กันเท่านั้น

ฟ้าทะลายโจรจะใช้รักษาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่ คุณหมอบอกว่า ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยว่า จะใช้รักษาได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ ฟ้าทะลายโจรช่วยเรื่องการสร้างภูมิต้านทาน ต้านการอักเสบ และต้านเชื้อไวรัสบางตัวที่มีการวิจัยรับรองอยู่ ถ้าจะรับประทานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายก็สามารถนำมารับประทานเสริมได้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง แต่ก็ต้องออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และทำตามข้อแนะนำของกระทรวงฯ
 

 

นอกเหนือจากฟ้าทะลายโจรที่มีฤทธิ์แบบนี้แล้ว ยังมีสมุนไพรอื่นที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายและลดอาการของโรคหวัดจากเชื้อไวรัสโรคทางเดินหายใจต่างๆ ได้อีกหลายตัว อาทิ กระเทียม ตะไคร้ และกะเพรา ซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่สามารถหาได้ง่าย

อีกหนึ่งงานวิจัยที่น่าสนใจ ซึ่งมีการเผยแพร่ในวารสารของ the Lancet เป็นการเก็บข้อมูลของทีมแพทย์โรงพยาบาลในเมืองอู่ฮั่นและเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่ วันที่ 1-20 มกราคมที่ผ่านมา โดยผลการศึกษาพบว่าผู้ชายเสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มากกว่าผู้หญิงจากผู้ป่วย 99 คน พบว่าเป็นชาย 67 คน ผู้หญิง 32 คน และจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่นก็พบว่า มีผู้ติดเชื้อเป็นผู้ชายมากกว่าเหมือนกัน โดยสาเหตุมาจาก ภูมิคุ้มกันที่ติดตัวมาแต่กำเนิด จากลักษณะเฉพาะทางพันธุกรรมของผู้หญิง และฮอร์โมนเพศที่สร้างและปรับภูมิคุ้มกันให้ต้านเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยจำนวนครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน จะมีอัตราเสียชีวิต มากถึง 11 เปอร์เซ็นต์ อธิบายง่ายๆ ก็คือ ใครมีโรคประจำตัวเรื้อรังอยู่ มีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าคนทั่วไป เพราะฉะนั้น ต้องดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง และป้องกันตัวตามมาตรการที่เจ้าหน้าที่แนะนำ ไม่ว่าจะเป็น กินร้อน ช้อนกลาง หรือการออกกำลังกาย หมั่นล้างมือ และใส่หน้ากากป้องกันไม่ว่าจะเป็นชนิดไหนก็ตาม