ธปท.เล็งทบทวน GDP ปีนี้ใหม่ จากเดิม 2.8%

31 ม.ค. 2563 | 11:59 น.

"แบงก์ชาติ" รับ เผย 2 ปัจจัยกดจีดีพีปี63 "เชื้อไวรัส-ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ" ยอมรับกระทบท่องเที่ยว-บริโภค-ส่งออกไทย

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 ยังเผชิญปัจจัยลบหลายด้าน ไม่ว่า จะเป็นการระบาดของเชื้อไวรัส หรือความล่าช้าของพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 และสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งรับรู้ผลกระทบไปแล้ว ส่วน 2 ปัจจัยลบใหม่คือ การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสและความล่าช้าของพ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ธปท.ได้ประเมินผลกระทบไว้หลายแนวทาง(Scenario)โดยจะใช้ประกอบการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในการประชุมวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งหาก 2 เหตุการณ์คลี่คลายใน 2 เดือนหรือเข้าสู่ภาวะปกติในเดือนเมษายน เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะชะลอรุนแรงตัวกว่าที่คาด โดยน่าจะเห็นผลกระทบต่อการเติบโตของจีดีพีในไตรมาสแรกจากเดิมที่ประเมินการเติบโตได้เกิน 2.00% 

ธปท.เล็งทบทวน GDP ปีนี้ใหม่ จากเดิม 2.8%

"2 ปัจจัยลบใหม่ จะมีนัยยะต่อการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขประมาณการจีดีพีที่คาดไว้ทั้งปี จะขยายตัว 2.8% ถ้า 2 เหตุการณ์ไม่คลี่คลายใน 2 เดือนคือ มีความต่อเนื่องก็จะกระทบไตรมาสแรก ในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนติดลบ ส่วนจะลงลึกหรือลงแรงแค่ไหนขึ้นอยู่กับทางการจะเชิญชวนหรือทำโปรโมชั่นให้นักท่องเที่ยวอื่นๆเข้ามาแทนแต่ธปท.คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาเท่าเดิม" นายดอนกล่าวและว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกระทบภาคท่องเที่ยวเป็นหลัก และส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศและกระทบการส่งออกบ้างเช่นผลไม้แต่ถือว่ากระทบน้อย 

ส่วนทิศทางค่าเงินบาทนั้นมีแนวโน้มจะเคลื่อนไหว 2 ทางและอาจจะเกินพื้นฐานไปบ้างพอมีข่าวร้ายทำให้ค่าเงินไหลลงเร็วและการที่ตลาดเปลี่ยนมุมมองภาคท่องเที่ยวจะกระทบเศรษฐกิจไทยด้วย

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 อยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าที่หดตัวต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชัดเจนขึ้น ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปีตามปัจจัยพื้นฐานด้านรายได้และความเชื่อมั่นที่ยังอ่อนแอ แม้จะมีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อบางส่วน การชะลอตัวของอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่องจาก พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ที่ยังไม่ประกาศใช้มีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานต่ำจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ตในปีก่อน

"เศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้น แต่ไม่มากทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 ชะลอตัวและอาจขยายตัวได้ไม่เท่ากับไตรมาสที่3 เห็นได้จากการส่งออกสินค้าที่หดตัวส่งผลต่อการใช้จ่ายภายในประเทศโดยเฉพาะความชัดเจนจากการบริโภคภาคเอกชนครึ่งปีหลังที่ชะลอตัวกว่าครึ่งแรก เพราะปัจจัยรายได้และความเชื่อมั่นไม่ดีและส่งให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวมากขึ้น"