คลอด 4 มาตรการเร่งด่วน รับมือไวรัสโคโรนา 

31 ม.ค. 2563 | 07:44 น.

“บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะ ประชุมครม.ศก. ออก 4 มาตรการเร่งด่วนรับมือไวรัสโคโรนา พร้อมรับทราบแนวทางมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยว จัดตั้ง “คณะกรรมการ Ease of Traveling” จัดการปัญหาระยะยาว  

คลอด 4 มาตรการเร่งด่วน รับมือไวรัสโคโรนา 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม  เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งแรก ในปี 2563  ภายหลังการประชุมนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พร้อมด้วยนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงผลการประชุมครม.เศรษฐกิจ โดยนายยุทธศักดิ์ ผู้ว่าการท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า ที่ประชุมเสนอมาตรการเร่งด่วนช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน 2563 ในการบรรเทาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนาใน 4 ด้าน คือ 


1.สร้างความเข้าใจแก่คนไทย และนักท่องเที่ยว Single message ห่วงใยและให้ความสำคัญกับคนไทย เป็นลำดับ 1 และแสดงความเห็นใจไปยังผู้ได้รับผลกระทบ 2.ยกระดับศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว หรือ TAC เป็น one stop service ให้คำแนะนำ เฝ้าระวังดูแลนักท่องเที่ยว 

 

3.มาตรการเยียวยาธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ด้วยการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวจีน และไทย รวมถึงจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ยืดเวลาการชำระหนี้ ตลอดจนการลดภาษีน้ำมันเครื่องบิน หรือภาษีสนามบิน เป็นต้น โดยเบื้องต้นจะเป็นมาตรการทางด้านการเงินเพื่อช่วยพยุงผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพื่อเข้าไปเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการก่อน

4.กระตุ้นการท่องเที่ยว ด้วยการหาตลาดทดแทนต่างประเทศ อาทิ ตลาดยุโรปอย่าง รัสเซีย และยูเครน ตลอดจนตลาดในอาเซียน อย่าง อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น และไต้หวัน เป็นต้น รวมถึงการท่องเที่ยวภายในประเทศโดยเน้นให้มีการจัดการสัมมนาของหน่วยงานราชการ และบริษัทเอกชนให้สามารถนำไปหักภาษีได้ 2 เท่า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในระยะต่อไปโดยจะมีการนำเสนอหลังจากนี้ 

 

 

คลอด 4 มาตรการเร่งด่วน รับมือไวรัสโคโรนา 

ทั้งนี้ นายยุทธศักดิ์ ผู้ว่าฯ ททท. ระบุถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงร้อยละ 80 มีมูลค่าความเสียหายในขณะนี้ 95,000 ล้านบาท  
ด้านนายกอบศักดิ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการการท่องเที่ยวภายในประเทศที่ในวันนี้เป็นการหารือเกี่ยวกับการดูแลปัญหาเฉพาะหน้า หลังจากนั้นจะมีการประชุมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ อาทิ มาตรการไทยเที่ยวไทย รวมถึงจะมีมาตรการเพื่อปลดล็อกเรื่องต่างๆตามมาอีก คาดว่าจะมีการประชุมหารือในเรื่องเหล่านี้อีกอย่างน้อย 2 ครั้งเพื่อให้ภาคท่องเที่ยวกลับสู่ภาวะปกติ  

WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินระดับโลก 'ไวรัสอู่ฮั่น'

สหรัฐฯยกระดับคำแนะนำห้ามเดินทางไปจีน

จีดีพีวูบ2แสนล. ไวรัสมรณะป่วนไทย

ส่วนกรณีที่มีการพูดถึงการซื้อประกันให้นักท่องเที่ยวตามที่ คปภ.เสนอซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับมาตรการที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส SARS ผู้ประกอบการ เห็นว่า สำหรับประเทศไทยยังไม่ถึงเวลา ดังนั้น เรื่องนี้จึงชะลอการเสนอเข้าที่ประชุมออกไปก่อน ออกวันนี้จะมีการเสนอการประกัน พร้อมกันนี้เตรียมมาตรการระยะยาว

โดยตั้งคณะกรรมการ Ease of Traveling เป็น คณะกรรมการแก้ไขปัญหาขับเคลื่อนอำนวยความสะดวกยกระดับคุณภาพ ด้านการบริการ และการท่องเที่ยว โดยมี รองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน และมี รมว.ท่องเที่ยว เป็นรองประธาน ขณะที่ กรรมการ จะประกอบด้วย ภาคเอกชน และภาครัฐ เพื่อหารือร่วมกัน     
ขณะที่ในส่วนของมาตรการที่แบงก์ชาติเสนอเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ 2 เรื่อง คือ การยืดการจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยว และการดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายประกันสังคมนั้น รัฐบาลรับทราบโดยจะนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป

 

“เป้าหมายชัดเจนว่า แบงก์ชาติส่งสัญญาณชัดเจนไปทางแบงก์พาณิชย์ว่า อยากให้ช่วยยืดเวลาการชำระหนี้ออกไป ขณะที่ในส่วนของกระทรวงการคลังจะดูแลเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่อไปด้วย” นายกอบศักดิ์ กล่าว 

 

พร้อมกันนี้ในที่ประชุมได้มีการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 พร้อมประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจปี 2563 จากเดิมที่ตั้งเป้าจีดีพีปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 -3.7 จะมีการปรับจีดีพีลดลง เนื่องจากได้รับปัจจัยกระทบ 3 หลายอย่าง ทั้งภัยแล้ง ไวรัสโคโรนา และการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า โดยตัวเลขที่ปรับลดลง จะมีการเปิดเผยในวันที่ 21 ก.พ.นี้ ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งต่อไปจะมีการเตรียมนำเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ โดยเน้นเรื่องของการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก