มท.-กต. รุมต้าน'พิพัฒน์' ยกเลิกฟรีค่าธรรมเนียมวีซ่าจีน

30 ม.ค. 2563 | 23:34 น.

จับตาการประชุมครม.เศรษฐกิจวันนี้ ก.ท่องเที่ยว เตรียมเสนอยกเลิกฟรีค่าธรรมเนียมวีซ่าจีน

วันนี้ (31ม.ค.63) เวลา 09.30 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งวาระการประชุมในวันนี้ พลเอกประยุทธ์ได้มอบหมายให้ทุกกระทรวงเสนอมาตรการรับมือผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ไวรัสโคโรนา และความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายปี 2563 เข้ามาให้ที่ประชุมพิจารณา

ทั้งนี้มีรายงานระบุว่า ในการประชุมวันนี้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะเสนอให้มีการทบทวนมาตรการการยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียม 2,000 บาทต่อคน การตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว VOA  (Visa On Arrival)  หรือการขอวีซ่าหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง  ที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติเมื่อ 22 ตุลาคม 2562 ซึ่งมาตรการจะสิ้นสุด 30 เม.ย. 2563 นี้  ซึ่งจะมีการเสนอให้ไม่ขยายมาตรการให้กับจีน แต่จะใช้มาตรการต่อกับอินเดีย 

อย่างไรก็ตามกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการต่างประเทศไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะอาจส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ไทย-จีน และอาจส่งผลต่อการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวในระยะยาวของไทย เพราะข้อเสนอดังอาจอาจทำให้จีนมองว่าเป็นนโยบายซ้ำเติมในขณะที่จีนกำลังประสบปัญหาการระบาดของไวรัสโคโรนา 

ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้การประชุมวันนี้จะมีการเชิญกระทรวงการต่างประเทศ  เพื่อให้ช่วยเสนอความเห็นเพราะอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระยะยาว ประกอบกับช่วงนี้จีนอยู่ในภาวะลำบาก ซึ่งปกติกระทรวงการต่างประเทศจะไม่อยู่ในครม.เศรษฐกิจแต่ฝ่ายเลขาเห็นข้อเสนอของกระทรวงท่องเที่ยวจึงทำหนังสือด่วนเชิญกต.เข้าประชุมด้วย

ในปี 2562 จีนถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวม 79,500ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปจีนมูลค่า 29,172 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากจีน 50,327 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 
ขณะที่การท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวจีนก็เป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ที่เดินทางมาเที่ยวในไทย โดยในปี 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 10.9 ล้านคน รายได้ราว 5 แสนล้านบาท  

สำหรับมติครม.เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 62  ขยายมาตรการยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม Visa On Arrival จนถึงวันที่ 30 เม.ย.63 ซึ่งดิมจะสิ้นสุดมาตรการ 31 ตุลาคม 2562 ครั้งนั้นมีการประเมินว่าจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามามากขึ้น และเข้ามาใช้จ่ายเงินจำนวน 144,732 ล้านบาท  แต่รัฐต้องสูญเสียรายได้จำนวน 10,764 ล้านบาท 

ซึ่งรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธินี้มีจำนวน 18 ประเทศ และ 1 เขตเศรษฐกิจ ไต้หวัน ได้แก่ 1.สาธารณรัฐบัลแกเรีย 2. ราชอาณาจักรภูฏาน  3. สาธารณรัฐประชาชนจีน 4. สาธารณรัฐไซปรัส 5. สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปีย  6. สาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ 7. จอร์เจีย 8. สาธารณรัฐอินเดีย 9. สาธารณรัฐคาซัคสถาน 

10. สาธารณรัฐมอลตา  11. สหรัฐเม็กซิโก 12. สาธารณรัฐนาอูรู 13. ปาปัวนิวกินี  14. โรมาเนีย 15. รัสเซีย  16. ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย  17. ไต้หวัน 18. อุซเบกิสถาน 19. สาธารณรัฐวานูอูตู