เอกซเรย์ 3,000 โรงงานระยอง ห่วงโรงไฟฟ้าขาดน้ำ

30 ม.ค. 2563 | 07:21 น.

 

 

สำรวจ 3,000 โรงงาน เส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทย  หลายพื้นที่ลดกำลังผลิตลดใช้น้ำ  แต่ที่น่าห่วงคือโรงไฟฟ้าที่ตั้งในจังหวัดระยองหากขาดน้ำหวั่นสดุดสายพานผลิต

 

นายพุทธิกรณ์  วิชัยดิษฐ อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงภาพรวมโรงงานทั้งหมดในจังหวัดระยองว่า มีโรงงานรวมทั้งที่ตั้งในเขตประกอบการและนอกเขตประกอบการจำนวน  3,000 โรงงาน   ในจำนวนนี้จะเป็นโรงงานที่ตั้งอยู่นอกเขตประกอบการที่เป็นนิคมอุตสาหกรรม เขตและสวนอุตสาหกรรมประมาณ 1,698 โรงงาน  และโรงงานที่อยู่ในเขตประกอบการซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานอุตสาหกรรม  ประกอบด้วย  เขตประกอบการไออาร์พีซีจำนวน  44 โรงงาน ,เขตประกอบการ WHA  จำนวน 44 โรงงาน  ,อุตสาหกรรมโรจนะ 31 โรงงาน  ,เขตประกอบการสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลปาร์คจำนวน 62 โรงงาน และเขตประกอบการจี.เค.แลนด์จำนวน 9 โรงงาน  ที่เหลือขึ้นอยู่กับการนิคมอุตสาหกรรมที่มี 6 นิคมอุตสาหกรรมรวมท่าเรือด้วย

 เอกซเรย์ 3,000 โรงงานระยอง ห่วงโรงไฟฟ้าขาดน้ำ

พุทธิกรณ์  วิชัยดิษฐ

ปัจจุบันโรงงานที่ตั้งอยู่นอกเขตประกอบการจำนวน  1,698  แห่ง จะใช้น้ำในกระบวนการผลิตประมาณ 144,000 ลบ.ม.ต่อวัน  และ 50% หรือราว 70,000 ลบ.ม.จะนำกลับมาใช้ใหม่ ที่เหลือระบายออก ซึ่งในส่วนนี้จะมีโรงไฟฟ้า 2 แห่งต้องใช้น้ำมาก เนื่องจากมีการหล่อเย็น โดย 2โรงไฟฟ้านี้จะใชน้ำ 7,500 ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งน้ำที่ได้มาจะซื้อจากบริษัทอีสวอเตอร์  ต้องดูว่าจะสามารถจัดสรรน้ำให้ได้หรือไม่  ถ้าโรงไฟฟ้าเดินต่อไปไม่ได้ก็เป็นเรื่องความมั่นคงด้านไฟฟ้า โดย 2 โรงนี้ผลิตไฟฟ้าได้ราว 500 MW

ส่วนโรงงานที่อยู่  ในเขตประกอบการที่อยู่ภายใต้การกำกับของอุตสาหกรรมระยองมีอยู่ 5 เขตโดยในเขตประกอบการไออาร์พีซีจำนวน 44 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานปิโตรเคมี  โดยรวมใช้น้ำวันละ 78,000 ลบ.ม. ได้น้ำมาจากโรงประปาที่รับน้ำมาจากกรมชลประทาน  ปริมาณน้ำดังกล่าวปรับลดการใช้น้ำลงแล้ว 10% จากเดิมต้องใช้น้ำ 80,000 ลบ.ม.ต่อวัน   โดยจะจัดสรรการใช้น้ำให้ได้ถึงเดือนพฤษภาคม  โดยในส่วนนี้ยังมีน้ำในสะต็อกอยู่ 1.7 ล้านลบ.ม.สำรองไว้ใช้

 เอกซเรย์ 3,000 โรงงานระยอง ห่วงโรงไฟฟ้าขาดน้ำ

สำหรับเขตประกอบการWHA  จำนวน 44 โรงงาน  เป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษเนื่องจากใช้น้ำประมาณวันละ 10,000-12,000 ลบ.ม. โดยซื้อน้ำจากอีสต์วอเตอร์  และมีบ่อสำรองที่มีน้ำอยู่ 90,000 ลบ.ม. โดยWHA มีโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ 3 โรง มีขนาดกำลังผลิต 250 MW ต่อโรง ใช้น้ำต่อวัน 7,500 ลบ.ม.ต่อวัน ถ้าโรงไฟฟ้าสดุดเท่ากับว่าโรงงานที่ตั้งอยู่ใน WHA จะสะดุดได้ และตอนนี้เป็นพื้นที่ที่มีผู้สนใจเข้ามาลงทุนจำนวนมาก ตรงนี้ถือเป็นอีกพื้นที่ที่น่าห่วง

เขตประกอบการสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลปาร์คจำนวน  62 โรงงาน  พื้นที่นี้ส่วนใหญ่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ มีบ่อสำรองอยู่ 2 ล้านลบ.ม.  และมีหลายโรงงานในพื้นที่ปรับลดการผลิต จึงไม่น่าห่วงมาก โดยโรงงานในพื้นที่นี้ตามปกติจะใช้น้ำวันละ  8,000  ลบ.ม.ต่อวัน ผันน้ำมาจากฝายน้ำล้นที่กักเก็บไว้ในช่วงหน้าฝน

ด้านเขตประกอบการจี.เค.แลนด์จำนวน 9 โรงงาน   ใช้น้ำวันละ 1,200 ลบ.ม. และยังมีบ่อกักเก็บอีก 500,000 ลบ.ม.ตรงนี้ก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีโรงงานบางแห่งลดการผลิตลดการใช้น้ำลง  และสวนอุตสาหกรรมโรจนะ  31 โรงงาน ใช้น้ำวันละ 8,000 ลบ.ม.ต่อวัน (ปรับลดการใช้ลงแล้ว10%)โดยใช้น้ำจากกรมชลประทานฯ พื้นที่ส่วนนี้ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอาหารและแปรรูปผลผลิตจากการเกษตร มีบ่อน้ำกักเก็บไว้ใช้เอง 5-6 แสนลบ.ม.

สำหรับโรงแยกก๊าซธรรมชาติของปตท. เป็นอุตสาหกรรมที่อยู่นอกเขตประกอบการ และเป็นโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ส่งก๊าซฯให้กับโรงไฟฟ้าทั้งหมดในพื้นที่ภาคตะวันออก  ที่เวลานี้มีแผนบริหารจัดการน้ำสามารถใช้ได้ถึงเดือนพฤษภาคม ตรงนี้เรื่องก๊าซฯไม่น่าห่วงแต่ที่น่าห่วงคือโรงไฟฟ้าถ้าไม่มีน้ำไปหล่อเย็นจะทำให้มีปัญหาได้ โดยสามารถแยกก๊าซฯได้จนถึงเดือนพฤษภาคม 

“จากการประเมินเบื้องต้นการใช้น้ำในโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกยังสามารถรับมือได้แต่ยังต้องเฝ้าระวังเป็นระยะ”

ปัจจุบันจังหวัดระยองมีการประชุมร่วมกันกับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยมีการตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภัยแล้งโดยโรงงานส่วนใหญ่มีประสบการณ์จากปี2548มาดีอยู่แล้วจึงไม่อยากให้เกิดปัญหาซ้ำรอย  ทำให้ทุกภาคส่วนจึงร่วมกันบริหารความเสี่ยงไว้โดยเฉพาะ โรงงานผลิตบางแห่งประกาศแผนหยุดการผลิตเพื่อใช้โอกาสนี้ซ่อมบำรุงเครื่องจักร  โรงงานบางแห่งก็ลดกำลังการผลิตลงเพื่อลดการใช้น้ำ

 เอกซเรย์ 3,000 โรงงานระยอง ห่วงโรงไฟฟ้าขาดน้ำ

สอดคล้องกับที่ผู้ประกอบการรายหนึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกกล่าวว่า  โรงงานส่วนใหญ่มีความกังวล ทั้งนำ้ทั้งความมั่นคงในการใช้ไฟฟ้า เพราะถ้านำ้ขาดจนกระทบถึงโรงไฟฟ้าก็เท่ากับว่ากระทบกับโรงงานอุตสาหกรรมราว 3,000 แห่งในจังหวัดระยอง กระทบไปด้วยเพราะสายพานการผลิตจากภาคอุตสาหกรรมยังต้องเดินต่อเนื่อง

สำหรับสถานะอ่างเก็บน้ำหลัก  5  แห่ง ในพื้นที่ภาคตะวันออก ณ วันที่ 30 มกราคม 2563  อ่างเก็บน้ำดอกกราย มีความจุอ่าง 79.4 ล้านลบ.ม. เหลือปริมาณน้ำ 30.3 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 38.27% อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล มีความจุอ่าง 163.7 เหลือปริมาณน้ำ 38.2 หรือสัดส่วน 23.3%  อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ มีความจุอ่าง 40.1 ล้านลบ.ม. เหลือปริมาณน้ำในอ่าง  8.2 หรือ 20.66%  อ่างเก็บน้ำประแสร์  มีความจุอ่าง 295 ล้านลบ.ม. เหลือปริมาณน้ำ103.7  หรือสัดส่วน 35.17%  และอ่างเก็บน้ำคลองระโอก  มีความจุอ่าง 19.6  ล้านลบ.ม.  เหลือปริมาณน้ำ 11.7 ล้านลบ.ม.  หรือ 59.64%