B10 หนุนเศรษฐกิจฐานราก

29 ม.ค. 2563 | 03:56 น.

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

วันที่ 29 มกราคม 2563 ณ ลานพระอาทิตย์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงนโยบาย“B10  น้ำมันบนดิน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ในงานสัมมนา“B10  สร้างสมดุลปาล์มน้ำมัน สู่ความยั่งยืน”ซึ่งจัดโดยฐานเศรษฐกิจและสื่อในเครือเนชั่นตอนหนึ่งว่า  ตั้งแต่รัฐบาลได้เข้ามาบริหารงานราชการแผ่นดิน ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แถลงต่อรัฐสภา ได้ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตร โดยเฉพาะ นโยบายการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม  โดยมีเป้าหมายเกษตรกรมีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพในสินค้าเกษตรสําคัญ อาทิ ปาล์ม ยางพารา ข้าว มันสําปะหลัง  อ้อย และข้าวโพด  สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ของประชาชน สร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจฐานราก

 

กระทรวงพลังงานมีนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน “Energy For All” พลังงานจะต้องเข้าถึงทุกคน ไม่อยู่ในเฉพาะรายใหญ่ ประชาชนฐานรากต้องได้ประโยชน์จากนโยบายพลังงาน โดยใช้กลไกด้านพลังงานไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพื่อแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลและเอทานอล ซึ่งเป็นน้ำมันบนดินที่มาจากผลผลิตทางการเกษตรที่สามารถผลิตได้ในประเทศ  อันเป็นจุดแข็งของประเทศไทย  ลดการพึ่งพาการนำเข้าปิโตรเลียมจากต่างประเทศ  ตลอดจนช่วยสร้างเสถียรภาพราคาผลผลิตทางการเกษตรให้กับพี่น้องเกษตรกร

B10 หนุนเศรษฐกิจฐานราก

นโยบายส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล มีเป้าหมายแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มดิบล้นตลาด ราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันตกต่ำ ให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ราคาปาล์มเมื่อเริ่มต้นนโยบายอยู่ที่ 3 บาท/กิโลกรัม ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ   7 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรชาวสวนปาล์มมีรายได้มากขึ้น ขณะที่ภาคพลังงานดูดซับ CPO 2 ใน 3 ส่วน ของการผลิตปัจจุบัน ยกระดับการใช้น้ำมันดีเซล บี10 เป็นน้ำมันพื้นฐานกลุ่มดีเซล โดยมีน้ำมันดีเซล บี7 และ บี20 เป็นน้ำมันทางเลือก  ซึ่งหากผลักดันการใช้ บี10 ได้สำเร็จ จะทำให้มีการใช้ B100 เพิ่มขึ้น 2.1 ล้านลิตรต่อวัน หรือเพิ่มประมาณ 40% จากปัจจุบัน  (เพิ่มการใช้ CPO อีกปีละ 6-7 แสนตัน) 


 

 

กระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายให้สถานีบริการน้ำมัน มีน้ำมันดีเซล บี 10 จำหน่ายทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 มี.ค. 63 โดยคาดว่ายอดจำหน่าย บี 10 จะสูงเทียบเท่า บี 7 ในอดีต จากข้อมูณ ณ ธันวาคม 2562 มีปริมาณการใช้ บี100 จำนวน 5.3 ล้านลิตรต่อวัน  โดยคาดว่าในปี 2563 จะมีการใช้เพิ่มขึ้นเป็น 50 - 57 ล้านลิตรต่อวัน  ณ วันที่ 19 มกราคม 2563 มีปริมาณการใช้ บี10 ปริมาณ 1.61 ล้านลิตรต่อวัน ปัจจุบันมีสถานีบริการน้ำมันที่มีน้ำมันดีเซล บี 10 แล้วทั่วประเทศ จำนวน 947 สถานี  เฉพาะที่จังหวัดกระบี่มีสถานีบริการรวม 16 สถานี (ปตท. 10 สถานี เชลล์ 2 สถานี บางจาก 3 สถานี และเอซโซ่ 1 สถานี)   โดยเฉพาะกระบี่ มี  16 สถานี

B10 หนุนเศรษฐกิจฐานราก

ทั้งนี้การดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันทั้งระบบ สู่ความยั่งยืน ตั้งแต่รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานส่งเสริม B10 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยมีราคาสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน นำมาซึ่งปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ  แม้จะมีกฎหมายรองรับและมีบทลงโทษผู้ลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ แต่การนำน้ำมันปาล์มดิบที่ลักลอบเข้ามาผสมกับน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศ ทำให้ตรวจสอบได้ยาก กระทรวงพลังงานจึงได้กำหนดมาตรการดังนี้

 

1.ป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศ นำระบบทางวิทยาศาสตร์และสถิติ มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมันปาล์มดิบ ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ลักลอบนำเข้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจะได้เร่งติดตั้งมิเตอร์ตรวจวัดปริมาณ B100 ทุกถังเก็บในคลังผู้ผลิต เพื่อติดตามปริมาณ B100 แบบ Real time กระทรวงพลังงานตั้งคณะทำงานร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงการคลัง เพื่อกำกับดูแล stock CPO 

2.การรักษาสมดุลปาล์มน้ำมัน  กรมธุรกิจพลังงาน กำหนดมาตรฐาน B100 ให้มี spec เดียว ดำเนินการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ บริหารจัดการผลผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อใช้ผลิตไบโอดีเซล ไม่ให้กระทบกับการใช้บริโภคในประเทศ   การขึ้นทะเบียนเกษตรกร แนวคิดคือ การควบคุมพื้นที่ปลูก ผลผลิตต่อไร่ ให้มีคุณภาพ ซึ่งการรับซื้อปาล์มต่อไป จะรับซื้อจากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนก่อน ส่วนที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนจะพิจารณาเป็นลำดับถัดไป

ทั้งนี้เกษตรกรต้องยกระดับการปลูกปาล์มให้มีคุณภาพ พัฒนาสายพันธุ์ที่สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร เป็นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้มากขึ้น ช่วยให้ราคามีเสถียรภาพ  การประกาศรับซื้อปาล์มล่วงหน้า 3 เดือน ซึ่งกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

 

ทั้งนี้ ประโยชน์จากการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล ต่อเศรษฐกิจฐานราก เป็นการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ จากการส่งเสริมให้มีการใช้ไบโอดีเซลในภาคพลังงานมากขึ้น สร้างความมั่นคงทางพลังงานในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบที่สามารถผลิตได้ในประเทศมากขึ้น ลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศ ยกระดับราคาผลปาล์มน้ำมัน และผลผลิตพืชพลังงาน สร้างเสถียรภาพราคา ให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง และลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านมลภาวะทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ตลอดจนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคคมนาคมขนส่ง

 

นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ขอให้ทุกท่าน โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนปาล์ม วางใจว่านโยบายของกระทรวงพลังงานจะเป็นเครื่องมือสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกระดับ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ขับเคลื่อนชีวิตของคนไทยทุกคน ในปัจจุบันไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลชุดนี้ คือ “พลังงานเพื่อทุกคน พลังงานเพื่อชุมชน ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก”