7 เทรนด์ Digital Marketing ‘เอเยนซี’ เร่งรับมือ

01 ก.พ. 2563 | 11:45 น.

YDM เผยเอเยนซีเข้าสู่ขาลงหากไม่ปรับตัว แนะ 7 เทรนด์การตลาดออนไลน์ที่นักการตลาดต้องจับตาตั้งเป้าสิ้นปีรายได้เติบโต 30% หลังปีก่อนพลาดเป้าจากพิษเศรษฐกิจและกลุ่มลูกค้าอสังหาฯหายไป

 

นายธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันเอเยนซีต้องปรับตัวอย่างมาก ซึ่งหากรายใดที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็จะส่งผลให้เกิดการเลย์ออฟ หรือปิดตัวลงเช่นเดียวกับเอเยนซีในต่างประเทศ และสิ่งที่เอเยนซีต้องปรับคือเรื่องของทรัพยากรบุคคล และเรื่องความรวดเร็ว เพราะปัจจุบันการทำงานของเอเยนซีแตกต่างจากอดีตมาก จากเดิมต้องใช้ระยะเวลาการคิดงาน 1 ชิ้นไม่ตํ่ากว่า 3-6 เดือนแล้วนำเสนอในทุกแพลตฟอร์ม แต่ปัจจุบันต้องมุ่งเน้นความรวดเร็วเหลือเพียงแค่ 2-3 อาทิตย์เท่านั้น และคิดงานในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่าง

“นักการตลาดในปี 2563 จะเผชิญหน้ากับแรงกดดันหลายด้าน ทั้งจากผู้เล่นจำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาแข่งขันบนตลาดออนไลน์ มีผลให้ค่าใช้จ่ายในการลงโฆษณาออนไลน์ถีบตัวสูงขึ้น และเกิดการวัดผลที่เข้มข้นขึ้น กลายเป็นแรงกดดันของนักการตลาดไทยที่ต้องแบกรับ”

7 เทรนด์ Digital Marketing ‘เอเยนซี’ เร่งรับมือ

ขณะเดียวกันในปีนี้ YDM Thailand ได้มองเห็นทิศทาง Digital Marketing ในปี 2020 ของเมืองไทยดังนี้ 1. Data เหมือนจะมา แต่ยังไม่มาซึ่งที่ผ่านมาสิ่งที่ YDM Thailand พบภาคธุรกิจในไทยปัจจุบันมีเพียงไม่กี่อุตสาหกรรมเท่านั้นที่สามารถจัดเตรียม Data ได้อย่างครบถ้วนและเป็นระบบ เช่น โทรคมนาคม, สถาบันการเงิน และธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ขณะที่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคนั้น ยังขาดความพร้อมเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากธุรกิจในหมวดนี้ใช้ร้านค้าพันธมิตรเป็นช่องทางการจัดจำหน่าย ทำให้ไม่สามารถเก็บข้อมูลTransaction Data ของลูกค้าในระดับ 1 ต่อ 1 ได้

2.สินค้าอุปโภคบริโภคดัน E-commerce เติบโต มี นโยบายสำคัญข้อหนึ่งได้ถูกประกาศใช้ นั่นคือการงดแจกถุงพลาสติกของร้านค้า โดยเฉพาะร้านค้าแบบ Hyper Market ซึ่งทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความสะดวกในการจับจ่ายเท่าที่ควร โดยจะส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาซื้อของสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านช่องทาง E-commerce มากขึ้น 3.ราคา Digital Media จะสูงขึ้น อัตราการว่างงานที่สูงขึ้นทำให้คนหันมาขายของออนไลน์มากขึ้น โดยช่องทาง E-commerce ซึ่งตามหลักเศรษฐศาสตร์ คือ เมื่อพื้นที่โฆษณามีจำกัด จำนวนผู้เล่น Internet เริ่มคงที่ แต่ผู้ลงโฆษณากลับเพิ่มมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าในปีนี้ค่าโฆษณา Digital Media จะเพิ่มขึ้น

 

4.การนำ Data มาใช้ Influencers แบบผสมผสาน แบรนด์ยังคงจะใช้เงินในส่วนของ Influencers สูงอยู่เหมือนเดิม แบรนด์จึงต้องมีกลยุทธ์ในการใช้ Influencers มากขึ้น เช่น อาจมีการใช้ผสมผสานกันระหว่าง Macro , Micro , Nano Influencers และมีการใช้ Data ในมุมต่างๆ ของ Influencers เข้ามาประกอบการตัดสินใจ 5.แบรนด์ใหญ่เริ่มหันมาเป็น Publisher ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าแบรนด์ขนาดใหญ่เริ่มมีความต้องการ Data มากขึ้น รวมทั้งทำเว็บไซต์ Content ขนาดเล็กโดยหวังผลในเรื่องของการเก็บ Behavior Data

6. Niche Market จะกลายเป็นตลาดสำคัญของแบรนด์ ปัจจุบันแบรนด์เริ่มเรียนรู้แล้วว่า สื่อ Digital ไม่ใช่สื่อที่จะสามารถครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้ แต่คนบนโลกดิจิทัลมีทางเลือกในการเสพคอนเทนต์มากมาย ดังนั้นผู้บริโภคจึงเลือกดูเฉพาะคอนเทนต์ที่ถูกใจเท่านั้น 7.งานโฆษณาแบบ One BIG Idea จะมีจำนวนน้อยลง การทำหนังโฆษณาเพื่อสื่อสารแบรนด์บนสื่อดิจิทัลประเภท One big idea ที่ใช้งบประมาณในการผลิตสูงนั้นจะมีจำนวนลดน้อยลง โดยแบรนด์น่าจะเลือกทำวิดีโอขนาดเล็ก แต่มีจำนวนหลายๆ ชิ้นแทน และในวิดีโอจะมี Message แตกต่างกันไปตาม Segmentation

สำหรับผลประกอบการในปี 2562 ที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากเดิมที่เคยคาดไว้จะเติบโต 30% แต่ในปีที่ผ่านมากลับเติบโตเพียงแค่ 10% เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยลบทางด้านเศรษฐกิจ รวมถึงกลุ่มลูกค้าประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่ลดการใช้เงินไปอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่เป้าหมายในปีนี้บริษัทคาดการณ์การเติบโต 30% 

หน้า 30 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,544 วันที่ 30 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2563

7 เทรนด์ Digital Marketing ‘เอเยนซี’ เร่งรับมือ