กางแผนสู้ภัยแล้ง  ซื้อน้ำเติมอ่าง 70 ล้านลบ.ม.  ป้อนอุตฯ

28 ม.ค. 2563 | 06:35 น.

การประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยพบว่า ปริมาณนํ้าใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดระยอง จะมีเพียงพอถึงเดือนมิถุนายน 2563 ส่วนจังหวัดชลบุรีจะต้องจัดสรรเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 5-6 ล้านลูกบาศก์เมตร ยกเว้นพื้นที่เมืองพัทยา เนื่องจากมีแผนจัดซื้อนํ้ามาใช้ 12 ล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมติฐานที่จะมีปริมาณฝนตกตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

เร่งแผนระยะสั้นรับมือ

อย่างไรก็ตามในการป้องกันความเสี่ยงการขาดแคลนนํ้าในช่วงกรกฎาคม-กันยายน 2563 หากฝนไม่ตกตามคาดการณ์ ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบมาตรการสำคัญระยะสั้น ที่จะป้องกันวิกฤติภัยแล้งปีที่จะเกิดขึ้น ตามการเสนอของสำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) ไม่ว่าจะเป็นการเร่งโครงการวางท่อสูบนํ้ากลับคลองสะพานมายังอ่างเก็บนํ้าประแสร์ ที่จะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้ คาดจะมีปริมาณนํ้าเพิ่มขึ้น 20 ล้านลูกบาศก์เมตร และโครงการสูบนํ้าคลองหลวง จุดพานทองเข้ากับท่อส่งนํ้าคลองพระองค์ไชยานุชิต-บางพระ จะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์นี้ คาดจะมีปริมาณนํ้าเพิ่มขึ้น 70 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทั้ง 2 โครงการทางบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรนํ้าภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์จะไปประสานกับกรมชลประทานเพื่อเร่งดำเนินการ

รวมถึงโครงการผันนํ้าอ่างเก็บนํ้าประแกด (ลุ่มนํ้าคลองวังโตนด) จังหวัดจันทบุรี มายังอ่างเก็บนํ้าประแสร์ ซึ่งทางสทนช.กำลังอยู่ระหว่างเจรจา กับคณะกรรมการลุ่มนํ้าคลองวังโตนด เพื่อมอบหมายให้อีสท์วอเตอร์ ไป ดำเนินการจัดซื้อนํ้า และจ่ายค่าไฟฟ้าในการสูบนํ้า ซึ่งจะทำให้มีปริมาณนํ้าเพิ่มขึ้น 70 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อทั้ง 3 โครงการแล้วเสร็จ คาดว่าจะมีปริมาณนํ้าเพิ่มขึ้นรวม 160 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทำให้พื้นที่อีอีซีผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้งปีนี้ไปได้

กางแผนสู้ภัยแล้ง  ซื้อน้ำเติมอ่าง 70 ล้านลบ.ม.  ป้อนอุตฯ

อีอีซีเสี่ยงขาดนํ้าในอนาคต

ส่วนการเตรียมแผนรับมือความต้องการใช้นํ้าระยะยาวนั้น อีอีซีมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนนํ้าด้านอุปโภคบริโภคในอนาคต ที่เป็นผลจากการเพิ่มของจำนวนประชากรและการพัฒนาในด้านต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว รวมถึงความเสี่ยงขาดแคลนทางด้านการเกษตร เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ 65% เป็นพื้นที่เกษตรกรรม

จากการประเมินความต้องการใช้นํ้าทุกภาคส่วน พบว่าพื้นที่อีอีซีใน ปี 2560 มีความต้องการใช้นํ้าถึง 2,419 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 58% ของภาคตะวันออก ที่ใช้อยู่ที่ 4,167 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจากการประเมินความต้องการใช้นํ้าในระยะ 20 ปี (2560-2580) ภายใต้การขยายตัวของประชากร จาก 4 ล้านคนในปี 2560 เพิ่มเป็น 6 ล้านคนในปี 2580 และการประเมินการขยายตัวภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคเกษตรกรรม พบว่าใน 3 จังหวัดมีความต้องการใช้นํ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

 

การใช้นํ้าภาคอุตฯพุ่ง

เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า ในปี 2570 จังหวัดชลบุรี จะมีความต้องการใช้นํ้าเพิ่มเป็น 623 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปี 2560 อยู่ที่ 469 ล้านลูกบาศก์เมตร และปี 2580 เพิ่มเป็น 703 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้นราว 50% โดยเพิ่มขึ้นจากภาคอุตสาห กรรมเป็นหลัก

ส่วนจังหวัดระยองในปี 2560 มีความต้องการใช้อยู่ที่ 494 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ในปี 2570 เพิ่มขึ้นเป็น 682 ล้านลูกบาศก์เมตร และปี 2580 เพิ่มขึ้นเป็น 749 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้น 52 % โดยเพิ่มขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก และจังหวัดฉะเชิงเทรา ในปี 2560 มีการใช้นํ้า 1,456 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2570 เพิ่มเป็น 1,583 ล้านลูกบาศก์เมตร และปี 2580 เพิ่มเป็น 1,637 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือเพิ่มขึ้น 12% โดยเพิ่มขึ้นจากภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก

ขณะที่แหล่งนํ้าต้นทุนของพื้นที่อีอีซี มีการบริหารจัดการนํ้าจากแหล่งนํ้านอกลุ่มนํ้า แหล่งนํ้าผิวดิน และนํ้าบาดาล โดยในปี 2560 มีนํ้าต้นทุนทั้งสิ้น 2,539 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นปริมาณนํ้าที่จัดสรรจากลุ่มนํ้าเจ้าพระยา 597 ล้านลูกบาศก์เมตร ลุ่มนํ้าปราจีนบุรี และลุ่มนํ้านครนายก 395 ล้านลูกบาศก์เมตร มีอ่างเก็บนํ้าขนาดใหญ่และขนาดกลาง 23 แห่ง กักเก็บนํ้า 1,368 ล้านลูกบาศก์เมตร มีโครงข่ายท่อผันนํ้า คลองพระองค์ไชยานุชิต-อ่างเก็บนํ้าบางพระ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงข่ายท่อผันนํ้าแม่นํ้าบางปะกง-อ่างเก็บนํ้าบางพระ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร และนํ้าบาดาล 79 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

ทุ่มกว่า 5 หมื่นล้านเพิ่มนํ้าต้นทุน

อย่างไรก็ตาม พื้นที่อีอีซี มีความจำเป็นต้องพัฒนาแหล่งนํ้าเพิ่มเติม ที่จะต้องรองรับความต้องการใช้นํ้าให้ได้ถึงปี 2580 ซึ่งทางคณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (กนช.) ได้อนุมัติแผน และจะนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้ ได้แก่ การพัฒนาและจัดการ นํ้าต้นทุน ช่วงปี 2563-2580 วงเงิน 52,797 ล้านบาท ประกอบด้วย

แผนการพัฒนาแหล่งนํ้าต้นทุน 38 โครงการ วงเงิน 50,691 ล้านบาท เช่น สร้างอ่างเก็บนํ้าคลองวังโตนด ปริมาณ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างอ่างเก็บนํ้าคลองโพล้ และพัฒนาระบบสูบกลับคลองสะพาน-อ่าง ประแสร์เส้น 1 และ 2 ได้ปริมาณนํ้า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นต้น และแผนการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้นํ้า 9 โครงการ วงเงิน 1,927 ล้านบาท เช่น แผนการบริหารจัดการลดนํ้าสูญเสียของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขาต่างๆ มาตรการ 3Rs และปรับระบบการเพาะปลูก เป็นต้น และมาตรการอื่นๆ การศึกษา จัดทำฐานข้อมูลพัฒนานํ้าบาดาล 3 โครงการ วงเงิน 178.99 ล้านบาท

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซี ทั้งระยะสั้นและระยะยาวนั้น คงจะต้องจับตากันต่อไปว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นปีนี้ การดำเนินงานของภาครัฐจะสามารถฟันฝ่าวิกฤติขาดแคลนนํ้าในพื้นที่อีอีซีได้หรือไม่

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,543 วันที่  26-29 มกราคม 2563