MRDA ส่อจับมือนีลเส็น  ลุยวัดเรตติ้งทีวี

29 ม.ค. 2563 | 16:34 น.

หึ่ง! MRDA ซุ่มเจรจาจับมือ “นีลเส็น” ผนึกพันธมิตรเดินหน้าลุยวัดเรตติ้งทีวีดิจิทัล หลังผลการจัดสรรงบของกสทช. ไม่คืบ ขณะที่สมาชิกเร่งเจรจาดึงผู้ประกอบการทีวีเป็นแนวร่วมเพิ่ม

ย้อนไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจัดสรรเงินในการจัดทำระบบสำรวจเรตติ้งทีวีดิจิทัล พร้อมเปิดประชุมรับฟังแนวทางและวิธีการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์ ร่วมกับผู้แทนสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ซึ่งในวันนั้นมี 3 บริษัทที่เข้ามานำเสนอวิธีการวัดเรตติ้ง ได้แก่ บริษัท พีเอสไอ บรอดคาสติ้ง จำกัด, บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด และ สมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย)หรือ MRDA เพื่อชิงว่าใครจะเป็นผู้จัดทำระบบวัดเรตติ้งทีวีดิจิทัล

กระทั่งในวันที่ 27 กันยายน 2562 กสทช. ได้ออกมาประกาศยกเลิกประกาศหลักเกณฑ์เดิมที่เคยบอกไว้ หลังจากที่ บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด หรือ ช่อง 7 ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่าประกาศดังกล่าวไม่เป็นธรรม พร้อมออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจัดสรรเงินในการจัดทำระบบสำรวจเรตติ้งทีวีดิจิทัลฉบับใหม่ขึ้นทันที โดยเปิดโอกาสให้ทุกองค์กรกลางที่รวมตัวสมาชิกทีวีดิจิทัล มายื่นเสนอของบจัดทำเรตติ้งได้ทุกองค์กร โดยไม่กำหนดอายุขององค์กรกลางที่จัดตั้งใหม่ รวมถึงยืดประกาศออกไปในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งหากในช่วง 1 ปีนี้ ไม่มีองค์กรกลางรายใด มายื่นเสนอของบประมาณจัดทำเรตติ้งทีวีดิจิทัลใหม่ กสทช. จะนำเงิน 431 ล้านบาท ส่งคืนรัฐจากเดิมในประกาศฉบับเก่าได้ระบุไว้ว่าต้องเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนมาแล้ว 3 ปี

ล่าสุดฐานเศรษฐกิจมีข้อมูลมาว่าการจัดตั้งองค์กรกลางที่จัดทำเรตติ้งดังกล่าวนั้น จากเดิมที่เคยมี 3 บริษัท เข้ามานำเสนอวิธีการวัดเรตติ้ง ได้แก่ บริษัท พีเอสไอบรอดคาสติ้ง จำกัด, บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด และ สมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย)หรือ MRDA มีแนวโน้มที่จะจับมือร่วมกันเพื่อทำเรตติ้ง โดยเฉพาะ MRDA และ นีลเส็น หลังจากที่ทางนีลเส็นมีผู้บริหารคนใหม่เข้ามานั่ง

วรรณี รัตนพล

 

 

นางวรรณี รัตนพล นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย หรือ MAAT เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า สำหรับเรื่องนี้ต้องรอทาง MRDA ออกมาพูดว่าจะเป็นไปอย่างไร ซึ่งในด้านของ MAAT ก็รอความชัดเจนจากทาง MRDA เช่นกัน อย่างไรก็ดีในช่วงที่ผ่านมา MRDA ก็ได้มีการพูดคุยกับพาร์ตเนอร์หลายราย ซึ่งก็มีพาร์ตเนอร์จากประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส โปรตุเกส เป็นต้น เข้าร่วมแล้ว ขณะที่การพูดคุยกับทางนีลเส็นเองก็มีการเจรจาในทิศทางที่ดีขึ้น

จากการประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจัดสรรเงินในการจัดทำระบบสำรวจเรตติ้งทีวีดิจิทัลฉบับใหม่ขึ้นมา ทำให้หลายอย่างหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่เคยวางแผนไว้ชะงักไป ซึ่งในขณะนี้ต้องรอความชัดเจนจากทางสมาคมก่อน ขณะที่ในด้านของ MRDA เองพร้อมแล้วในเรื่องของพาร์ตเนอร์

 

เมื่อย้อนไปวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 โดยมี 3 บริษัทเรตติ้งได้เข้ามานำเสนอวิธีการวัด โดยเริ่มจาก MRDA ได้นำเสนอการวัดแบบ Multi- Screen Audience Measurement หรือในทุกช่องทาง รวมทั้งยังโชว์การต่อยอดเทคโนโลยีในอนาคตจะสามารถจับภาพผู้ชมบนระบบจอหรือเรียกว่า Facial Recognition เป็นต้น ขณะที่ด้านของพาร์ตเนอร์ที่เคยนำเสนอนั้นจะเป็นลักษณะการ Co-ordinate License Software โดยมีผู้เข้าร่วม คือ Kantar, Intage Group, Mediametrie, Markdata และ CESP

ขณะที่นีลเส็นได้นำเสนอการวัดในรูปแบบสากลที่ทั่วโลกใช้คือมาตรฐานการวัดของ GGTAM หรือ Global Guideline for TV Audience Measurement โดยเป็นการเก็บข้อมูล 26 ขั้นตอนรวมทั้งมีองค์กรอิสระทั้งภายในและภายนอกเข้ามาตรวจสอบการทำงานเพื่อความโปร่งใส และในส่วนของ PSI ได้ชูวิธีการนำเสนอโดยวัดแบบ Realtime ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทั่วโลกใช้ รวมทั้งมี KPI ที่ตรวจสอบได้ทันทีว่ารายการที่ออกอากาศไปมีผู้สนใจเป็นใคร อยู่ที่ไหน

หน้า 31-32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,543 วันที่ 26-29 มกราคม 2563