ภัยแล้งถล่มพื้นที่อีอีซี งัดแผนซื้อน้ำบ่อดินเล็งกลั่นน้ำทะเลใช้

24 ม.ค. 2563 | 06:30 น.

สทนช.กางแผนรับมือวิกฤติภัยแล้งอีอีซี คาดปริมาณนํ้ารับมือได้ถึงเม.ย. ขณะพ.ค.- มิ.ย.ลุ้นฝนตก เตรียมแผนสำรองตั้งโต๊ะรับซื้อนํ้าบ่อดิน เร่งศึกษากลั่นนํ้าทะเลเป็นนํ้าจืดในพื้นที่นิคมฯมาบตาพุดและเมืองพัทยา

 

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี เป็นพื้นที่หนึ่งที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง จากปริมาณนํ้าในอ่างเก็บนํ้าหลัก 5 แห่งได้แก่หนองปลาไหล บางพระ ดอกกราย หนองค้อ และคลองใหญ่ ที่ป้อนนํ้าดิบให้กับอีอีซีเป็นหลัก มีปริมาณสะสมไม่ถึง 140 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นระดับที่วิกฤติที่ต้องสูบผันนํ้าจากอ่างเก็บนํ้าประแสร์และสูบนํ้าจากแม่นํ้าบางปะกง และหานํ้าจากบ่อเอกชนเข้ามาเสริม แต่ก็จัดหาได้ในปริมาณจำกัด

อีกทั้งที่ผ่านมากรมชลประทานได้ทำหนังสือถึงบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรนํ้าภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ ให้ควบคุมปริมาณนํ้าที่ใช้รายวันจากอ่างเก็บนํ้าดอกกรายหนองปลาไหล และประแสร์ รวมกันได้ไม่เกินวันละ 6.5 แสนลูกบาศก์เมตร จนสิ้นสุดฤดูแล้งปี 2563 จากปี 2562 ที่อีสท์วอเตอร์เคยจ่ายนํ้าดิบเฉลี่ยที่ 7.7 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งส่งผลให้นิคมอุตสาหกรรมและลูกค้าที่อยู่นิคมฯอีอีซี ต้องลดการใช้นํ้าลง 10% จากปริมาณที่เคยใช้

 

 

ตั้งโต๊ะรับซื้อนํ้าบ่อเอกชน

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) เผยกับฐานเศรษฐกิจจากการสำรวจสภาพแหล่งนํ้าธรรมชาติพบว่ามีค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซีอยู่ในระดับค่อนข้างรุนแรง ซึ่งได้รณรงค์ประหยัดนํ้า และลดการใช้นํ้า รวมถึงการผันนํ้าเข้ามาช่วยจากอ่างประแสร์ มาลงอ่างเก็บนํ้าคลองใหญ่ และอ่างบางพระ เป็นต้น คาดว่าพอประคองไปได้ถึงเดือนเมษายนนี้

 

ภัยแล้งถล่มพื้นที่อีอีซี  งัดแผนซื้อน้ำบ่อดินเล็งกลั่นน้ำทะเลใช้

 

ทั้งนี้ ที่น่าจะเป็นห่วง จะเป็นช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน หากปริมาณฝนยังไม่มาหรือตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ จะต้องมีแผนสำรองในการจัดหาแหล่งนํ้า จากบ่อดินเอกชน ที่เป็นเหมืองหรือบ่อนํ้า ซึ่งในวันที่ 23 มกราคม 2563 นี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานการประชุม จะเสนอมาตรการรับซื้อนํ้าจากบ่อดินของภาคเอกชนที่มีอยู่ในภาคตะวันออก มาสำรองไว้กันการขาดแคลน ซึ่งอาจจะมีต้นทุนสูงกว่าการซื้อนํ้าจากอีสท์วอเตอร์ ขณะที่ภาคเอกชนก็ต้องช่วยตัวเองส่วนหนึ่ง ในการขุดบ่อบาดาล รองรับไว้เช่นกัน

 

เล็งผลิตนํ้าจืดจากทะเล

นอกจากนี้ สทนช.จะขอความร่วมมือภาคธุรกิจ ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการรีไซเคิลนํ้าทิ้ง เพื่อนำนํ้ากลับมาใช้ใหม่ และหากรุนแรงสุดๆ ได้เตรียมศึกษานำนํ้าเค็มจากทะเลมากลั่นเป็นนํ้าจืด ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับพัฒนาระบบผลิตนํ้าจืดจากนํ้าทะเล 2 แห่ง ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และเมืองพัทยา ที่จะเตรียมการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะต้องยอมรับว่าพื้นที่อีอีซี มีข้อจำกัดของนํ้าต้นทุนมีน้อย ต้องพึ่งนํ้าจากนํ้าฝนเป็นหลัก และต้องผันนํ้าเข้ามาช่วยด้วยทุกปี

 

ดันเมกะโปรเจ็กต์1.36 แสนล.

เลขาฯสทนช.กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น คณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (กนช.) ได้เห็นชอบโครง การพัฒนาแหล่งนํ้าและการจัดการทรัพยากรนํ้ารองรับอีอีซีในปี 2563-2580 แล้ว วงเงิน 1.36 แสนล้านบาท จะสามารถเพิ่มนํ้าต้นทุนได้ 3 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ทั้งนี้ ช่วงปี 2563-2570มีแผนการพัฒนาแหล่งนํ้าต้นทุน 38 โครงการ วงเงินกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย 25 โครงการ วงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาท และด้านการจัดการคุณภาพนํ้า จำนวน 33 โครงการกว่า 4 หมื่นล้านบาท เมื่อดำเนินตามแผนโครงการดัชนีชี้วัด สิ้นปี 2570 ปริมาณนํ้าต้นทุนในพื้นที่ 2,888 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และปี 2571-2580 ปริมาณนํ้าต้นทุนจะเพิ่มเป็น 3,089 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

         

โยนรัฐเร่งจัดหาแหล่งนํ้า

แหล่งข่าวจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยว่าทางภาคเอกชนมีความเห็นว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ปีนี้การจัดหานํ้าตามความต้องการใช้นํ้าในนิคม เป็นปัญหาใหญ่เกินกว่ากำลังที่นิคมที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง และด้วยมาตรการดังกล่าว และมองว่าหากถึงวิกฤติรุนแรงกว่านี้ อุตสาหกรรมทั้งหมดในชลบุรีและระยอง ซึ่งใช้แหล่งนํ้าเดียวกันทั้งหมด จะได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงจำเป็นที่ภาครัฐ จะต้องเตรียมแผนงานรับมือไว้แต่เนิ่นๆเพื่อแก้ปัญหาในภาพรวม

 

 

อีอีซีชงครม.จัดหานํ้า

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือWHA ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ในพื้นที่อีอีซี กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซียังพอรับได้ เนื่องจากได้ขอความร่วมมือกับลูกค้าในการลดใช้นํ้าลงมา 10% และหากมีแผนหยุดซ่อมบำรุงโรงงานประจำปีก็ขอให้มาดำเนิน งานในช่วงนี้แทน ซึ่งจะช่วยลดการใช้นํ้าได้อีกส่วนหนึ่ง

ขณะนี้แผนรับมือโดยการจัดหาแหล่งนํ้ามาเสริมนั้น คาดว่าในเร็วๆ นี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) จะนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีจัดหาปริมาณนํ้าเพิ่มขึ้นมาได้อีก 60 ล้านลูกบาศก์เมตร เชื่อว่าจะทำให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้

ส่วนความเชื่อมั่นของนักลงทุนนั้นเนื่องจากนักลงทุนอยู่กับนิคมมานาน เคยเจอประสบการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นมาแล้ว จึงไม่ค่อยห่วง เพราะเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว ขณะที่นักลงทุนใหม่ที่เพิ่งตั้งโรงงาน ในส่วนนี้ก็ยังคงป้อนนํ้าให้ตามปกติ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ ส่วนนักลงทุนใหม่ที่เข้ามาดูพื้นที่ตั้งโรงงาน ยังไม่มีการถามถึงภัยแล้งที่เกิดขึ้น จึงไม่น่าเป็นห่วงในเรื่องของความเชื่อมั่นแต่อย่างใด

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,542 วันที่ 23-25 มกราคม 2563