สสส.ดึงเยาวชน ชุมชน สร้างพื้นที่ปลอดภัยป้องปรามยาเสพติด

21 ม.ค. 2563 | 09:00 น.

สสส.ชื่นชมภาคีเครือข่าย ดึงเยาวชน ชุมชน สร้างพื้นที่ปลอดภัยป้องปรามยาเสพติด

สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สำนัก1) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดประชุมสัมมนาเชิงปฎิบัติการ Safe Zone for All “พื้นที่ปลอดภัยทุกคนสร้างได้ สู่งานวันยาเสพติดสากล 26 มิถุนายน 2563” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจากโครงการพัฒนากลไกเครือข่ายภาคประชาสังคมร่วมป้องกันปัญหายาเสพติด และสร้างชุมชนสุขภาวะ โดยมีภาคีเครือข่าย ทั้งอาสาสมัคร เยาวชน ชุมชน หน่วยงานที่มีองค์ความรู้และนวัตกรรมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นเกี่ยวกับการเสพติด ในความหมายที่กว้างกว่าการเสพยาเสพติดให้โทษ เพราะทุกคนในสังคมสามารถช่วยกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยได้ด้วยการสร้างความรัก ความเข้าใจ ความเคารพกันและกันให้เกิดขึ้นในครอบครัวและชุมชน เพื่อเป็นเกราะป้องกันและจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมถึงเก็บเกี่ยวทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของตนเองและดูแลบุคคลในความรับผิดชอบอย่างรู้เท่าทัน ตลอดจนการสร้างสุขภาวะที่ดีด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สสส.ดึงเยาวชน ชุมชน สร้างพื้นที่ปลอดภัยป้องปรามยาเสพติด

น.ส.รุ่งอรุณ  ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนัก 1 สสส. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาสารเสพติดในชุมชนด้วยการสร้างพื้นที่ปลอดภัยของภาคีเครือข่ายพบว่า การดำเนินโครงการมีผลสำเร็จเกินเป้าหมายที่ สสส. วางไว้ เพราะกิจกรรมที่จัดขึ้นทำให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่จะช่วยกันดูแลปัญหายาเสพติดในชุมชนด้วยวิธีการที่เค้าเลือกเอง การมีส่วนร่วมจะทำให้ทุกคนรู้ว่าตัวเองเป็นคนสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีและเป็นพลังสำคัญที่ก่อให้เกิดวิถีชีวิตใหม่ เปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ รวมถึงดูแลสังคม ดูแลสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการลดปัญหายาเสพติดได้อย่างแท้จริง

สสส.ดึงเยาวชน ชุมชน สร้างพื้นที่ปลอดภัยป้องปรามยาเสพติด

  น.ส.รุ่งอรุณ  ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนัก 1 สสส.

 

 “หัวใจสำคัญของการดำเนินงานด้านยาเสพติดของ สสส. คือต้องการสนับสนุนให้เห็นว่าการทำงานด้วยวิธีเชิงบวกสามารถสร้างให้เกิดรูปธรรมของความสำเร็จได้จริง ซึ่งการทำงานในมิติเชิงบวกจะเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ จากเดิมที่ประกาศสงครามกับยาเสพติดซึ่งหลายบทเรียนก็ยืนยันแล้วว่าอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร มาเป็นการเปิดพื้นที่ให้ชุมชนร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัย ทำให้คนในชุมชนรู้สึกว่าทุกคนเป็นเจ้าของชุมชน จากนั้นก็พยายามดึงทุกคนในชุมชน ทั้งเด็กเยาวชนและผู้สูงอายุเข้ามาร่วมทำกิจกรรมเพื่อที่จะได้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า สามารถช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนให้เกิดความต่อเนื่องในระยะยาวได้ อย่างไรก็ตามการสร้างพื้นที่ปลอดภัยยังสามารถทำให้ชุมชนเกิดความแข็งแรงในมิติที่จะสร้างสุขภาวะที่ดีต่อไปได้เช่นกัน” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว
 

น.ส.เกศรินทร์  พรหมมา  นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครมูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทยซึ่งเป็นมูลนิธิในเครือข่ายของ สสส. เพื่อที่จะช่วยสนับสนุนกิจกรรมของพี่ๆ อาสาสมัครในด้านของการศึกษา เนื่องจากชุมชนที่ลงพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นโรงเรียนการศึกษานอกระบบ (กศน.) ตั้งอยู่บนดอยสูง ไม่มีสื่อการเรียนการสอน มีครูแค่ 2 คน คอยสอนวิชาภาษาไทยกับคณิตศาสตร์ ส่งผลให้เด็กเยาวชนยังเข้าไม่ถึงการศึกษามากนัก ดังนั้นเด็กที่นี้จะไม่รู้ว่าโทษและพิษภัยของสารเสพติดส่งผลเสียต่อตัวเอง สังคม ชุมชนอย่างไร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กเหล่านี้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ดังนั้นตนมองว่าการที่เด็กและเยาวชนเข้ามาช่วยเป็นอาสาสมัครดูแลปัญหายาเสพติด ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างความตระหนักด้านพิษภัยของยาเสพติดให้กับเยาวชนได้

สสส.ดึงเยาวชน ชุมชน สร้างพื้นที่ปลอดภัยป้องปรามยาเสพติด

น.ส.เกศรินทร์  พรหมมา  นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

“ผู้ใหญ่มักมองว่าการแก้ปัญหายาเสพติดต้องแก้ที่คนที่ติดยา แต่ความจริงเราสามารถเริ่มทำจากคนที่ยังไม่ติดยาก็ได้ ดังนั้นการที่เยาวชนมาช่วยดูแลเรื่องยาเสพติดจะไม่ใช่เป็นการมาช่วยในเชิงแก้ปัญหา แต่เป็นการป้องกันตั้งแต่เด็กยังไม่เข้าไปในวงจรด้วยวิธีการสร้างแทนซ่อมคือ หากเรารู้ว่าถ้าให้เด็กโตไปในสังคมแบบนี้จะต้องติดยาแน่นอน เราก็ต้องทำตัวเองให้เป็นเหมือนวัคซีนช่วยสอนให้น้องรู้ว่าการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดมันจะส่งผลเสียอย่างไร เพื่อให้น้องได้เรียนรู้และตระหนักด้วยตัวเอง” น.ส.เกศรินทร์  กล่าว